นวัตกรรม ‘เตาแก๊สซิไฟเออร์’ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
การทำให้ "วิทยาศาสตร์เป็นของทุกคน" เป็นบทบาทหนึ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย อาทิตย์ ลมูลปลั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.
การทำให้ "วิทยาศาสตร์เป็นของทุกคน" เป็นบทบาทหนึ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เข้าถึงง่าย และเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม
"เทคโนโลยีพร้อมใช้" จึงเป็นเสมือนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ของประชาชน ในการเรียนรู้นวัตกรรมและใช้ในการประกอบอาชีพ ที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนแต่ละภูมิภาค ซึ่งบางเทคโนโลยีมีความเหมาะสมจนสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนได้มากขึ้น
"สวทช.ภาคเหนือ" ภายใต้การสังกัด สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีหน้าที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยในปี 2560 สวทช.ภาคเหนือ เกิดการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงกว้างและทั่วถึงไปสู่ชุมชนต่างๆ 69 ครั้ง จำนวน 62 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ มีเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 2,000 ราย ได้พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 130 คน ส่งผลให้หลายชุมชนเข้มแข็ง นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเสริมสร้างอาชีพของชุมชนของตนเองได้ผลดีเยี่ยม
ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ ซึ่ง สวทช.ภาคเหนือ ขยายผลสู่ชุมชนได้ผลดีขณะนี้ คือ "เตาแก๊สซิไฟเออร์แบบปั้นมือได้ด้วยตนเอง" หรือเตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพด ซึ่ง สวทช.ภาคเหนือ ได้ประสานองค์ความรู้และสนับสนุนงบประมาณให้กับ องอาจ ส่องสี นักวิจัยอิสระและ ผู้ประดิษฐ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านสันติสุข สามารถปั้นใช้ในครัวเรือน ด้วยกระบวนการผลิตที่ง่าย ชุมชนสามารถผลิตได้เอง และมีต้นทุนในการผลิตต่ำใช้ซังและต้นข้าวโพด เป็นแหล่งพลังงาน ลดปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือตอนบนได้
องอาจ ส่องสี นักวิจัยอิสระและผู้ประดิษฐ์ อธิบายว่า เทคโนโลยีของเตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพด คล้ายๆ กับเทคโนโลยีของเตาก๊าซชีวมวล คือ เตาแก๊สซิไฟเออร์ ซึ่งแนวคิดการทำเทคโนโลยี ดังกล่าว เกิดจากการได้ไปพบเห็นตามหมู่บ้านหรือตามอำเภอต่างๆ เกษตรกรในปัจจุบันจะปลูกข้าวโพดกันมาก และเศษเหลือจากการปลูกข้าวโพดคือ "ซัง" ซึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะเผาทิ้ง หรือปล่อยให้เน่าสลายไป ไม่เกิดประโยชน์และเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ในครัวเรือนเองยังต้องใช้เชื้อเพลิง จึงเกิดแนวคิดว่า หากนำซังข้าวโพดมาจุดในเตาที่มันมีความเหมาะสม คือให้พลังงานความร้อนที่ดี น่าจะเกิดประโยชน์ เพราะโดยทั่วไปที่ชาวบ้านไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากจุดแล้วมันจะเป็นควันเยอะ เปลวไฟมีน้อย เนื่องจากซังข้าวโพดมีความหนาแน่นของตัวมวลค่อนข้างน้อย แต่หากนำมาเป็นเชื้อเพลิงในลักษณะของเตาแก๊ส ซิไฟเออร์จะจุดได้ดีกว่า
ลักษณะของเตาแก๊สซิไฟเออร์แบบปั้นมือได้ด้วยตนเองสำหรับครัวเรือน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 30.5 เซนติเมตร สูง 36 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม มีหลักการทำงานแบบเตาแก๊สเชื้อเพลิงจากชีวมวลชนิดอากาศไหลขึ้น โดยเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงแบบจำกัดปริมาณอากาศ ให้เกิดความร้อนบางส่วน แล้วไปเร่งปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งให้กลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน ซึ่งเตามีประสิทธิภาพสูง มีควันน้อยกว่าและให้ความร้อนสูงกว่าเตาฟืนธรรมดา ใช้ซังข้าวโพด 1 กิโลกรัม สามารถใช้หุงต้มได้ประมาณ 30 นาที ผลิตได้ง่าย ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถทำเองได้ โดยมีชุมชนในหมู่บ้านสันติสุข ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ผลิตใช้ในครัวเรือนแล้วมากกว่า 40 ครัวเรือน
"เตาแก๊สซิไฟเออร์แบบปั้นมือ ได้ด้วยตนเอง" หรือเตาชีวมวลเชื้อเพลิงซังข้าวโพดจึงเหมาะสมสำหรับชุมชนที่มีแหล่งการปลูกข้าวโพดจำนวนมากๆ ซึ่งจะมีเศษเหลือคือ ซังข้าวโพดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ควรจะเอาเตาแก๊ส ซิไฟเออร์แบบปั้นมือได้ด้วยตนเองนี้ไป ส่งเสริมหรือใช้ในชุมชนหรือทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่ม
ในปีนี้ สวทช.ภาคเหนือ ยัง เดินหน้าขยายผล "ชุมชนนวัตกรรม" ที่พร้อมแบ่งปัน ความรู้ที่ได้จากการทดลองปฏิบัติ พัฒนาต่อยอดจนได้ผลลัพธ์ที่ได้ผลน่าเชื่อถือ ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ นำไปขยายโอกาสชุมชนอื่นๆ ที่สนใจเพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นของทุกคน สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ให้มี ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป