posttoday

กลุ่มดาวสิงโต

15 เมษายน 2561

กลุ่มดาวสิงโตเป็นกลุ่มดาวเด่นกลุ่มหนึ่งในบรรดากลุ่มดาวทั้งหมด 88 กลุ่ม

โดยวรเชษฐ์ บุญปลอด

กลุ่มดาวสิงโตเป็นกลุ่มดาวเด่นกลุ่มหนึ่งในบรรดากลุ่มดาวทั้งหมด 88 กลุ่ม ตามการแบ่งกลุ่มดาวแบบสากลในทางดาราศาสตร์ สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี นั่นคือกลุ่มดาวที่ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนผ่านในรอบปีเมื่อมองจากโลก อีกส่วนหนึ่งคือมีดาวสว่างหลายดวงที่เรียงตัวกัน โดยมีรูปร่างคล้ายสิงโต มองเห็นอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำสำหรับช่วงนี้ของปี

กลุ่มดาวสิงโตเป็นที่รู้จักกันมานานนับพันปี ปรากฏในรายชื่อกลุ่มดาว 48 กลุ่ม ซึ่งรวบรวมโดยทอเลมีในคริสต์ศตวรรษที่ 2 เป็นกลุ่มดาวจักรราศีซึ่งตามการแบ่งเขตกลุ่มดาวทางดาราศาสตร์สากลในปัจจุบัน ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านพื้นที่ของกลุ่มดาวสิงโตในช่วงประมาณวันที่ 10 ส.ค.-18 ก.ย.

นักดาราศาสตร์มีวิธีบอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้าด้วยตัวเลข เราเรียกว่าโชติมาตรหรืออันดับความสว่าง ยิ่งตัวเลขมีค่าน้อย ยิ่งสว่าง ดาวจางที่สุดที่ดวงตาของคนสายตาปกติมองเห็นได้ภายใต้ฟ้ามืดคือดาวที่มีโชติมาตรประมาณ 6.5 หรืออาจจะถึง 7 ได้ในบางคน ดาวเหนือมีโชติมาตรประมาณ 2 ดาวพฤหัสบดีมีโชติมาตรประมาณ –2 และดาวศุกร์มีโชติมาตรประมาณ –4 ดาวศุกร์จึงสว่างที่สุด

กลุ่มดาวสิงโตมีดาวฤกษ์หลายดวงที่สว่างกว่าโชติมาตร 4 ในบรรดาดาวสว่างเหล่านี้ ดาว 9 ดวง เรียงตัวกันโดยมีรูปร่างคล้ายสิงโต หากสังเกตในเวลาหัวค่ำ เราจะเห็นส่วนหัวของสิงโตอยู่ด้านบน หางของสิงโตอยู่ด้านล่าง ตรงส่วนหัวมีรูปร่างคล้ายเคียวสำหรับเกี่ยวข้าว หรือบางคนมองว่าเป็นเครื่องหมายปรัศนี (เครื่องหมายคำถาม) กลับข้าง โดยดาวหัวใจสิงห์ หรือเรกูลัส (Regulus) ซึ่งเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโต มีตำแหน่งอยู่ตรงปลายด้ามเคียวหรือตรงกับจุดที่อยู่ด้านล่างของเครื่องหมายปรัศนี เมื่อมองจากโลก ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในช่วงประมาณวันที่ 23-24 ส.ค.

ดาวหัวใจสิงห์อยู่ห่างจากโลก 79 ปีแสง เราเห็นดาวหัวใจสิงห์สว่างเป็นดวงเดียว แต่แท้จริงเป็นระบบดาวหลายดวง มีดาวอีกอย่างน้อย 3 ดวง ซึ่งจางกว่าอยู่ใกล้ๆ เคลื่อนที่ไปด้วยกันในอวกาศ นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหัวใจสิงห์มีคู่เป็นดาวแคระขาวอยู่ใกล้มาก ไม่สามารถมองเห็นแยกกันได้ แต่สังเกตพบจากการวัดสเปกตรัมของดาว คาบการโคจรยาวนานประมาณ 40 วัน ค้นพบด้วยว่าดาวหลักหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว

ด้วยคาบเพียง 16 ชั่วโมง นับว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ที่หมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 27 วัน การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วนี้น่าจะทำให้ดาวหัวใจสิงห์มีรูปร่างเป็นทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว

สำหรับผู้สังเกตในประเทศไทย สัปดาห์นี้ดาวหัวใจสิงห์จะขึ้นไปอยู่สูงสุดบนท้องฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง – 3 ทุ่ม โดยมีตำแหน่งอยู่ใกล้จุดเหนือศีรษะ ดาวหัวใจสิงห์เป็นดาวสว่างอันดับต้นๆ จำนวน 4 ดวง ที่อยู่ใกล้แนวระนาบการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์รอบโลก ซึ่งทำมุมเอียงกับแนวสุริยวิถีหรือระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 5 องศา ทำให้มีโอกาสถูกดวงจันทร์บังได้ในบางช่วงปี ซึ่งประเทศไทยเห็นได้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560

ด้านล่างของกลุ่มดาวสิงโตมีดาวสามดวงเรียงกันเกือบจะเป็นสามเหลี่ยมมุมฉาก นั่นคือตำแหน่งที่อยู่บริเวณหางสิงโต ดาวดวงที่อยู่ด้านล่างสุดมีชื่อว่า Denebola ซึ่งแปลว่าหางสิงโตกลุ่มดาวสิงโตมีฝนดาวตกที่เกี่ยวข้องคือฝนดาวตกสิงโตหรือบางคนเรียกทับศัพท์ว่าลีโอนิดส์ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6-30 พ.ย.ของทุกปี และมีอัตราตกสูงสุดในราววันที่ 16-19 พ.ย. ฝนดาวตกสิงโตมีจำนวนดาวตกมากเป็นพิเศษทุกๆ ประมาณ 33 ปี ทำให้มีโอกาสจะเกิดฝนดาวตกในอัตราสูงหลายร้อยหรือหลายพันดวงต่อชั่วโมง ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2541-2545

กลุ่มดาวสิงโต

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (15-22 เม.ย.)

ดาวสว่างที่เห็นอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกคือดาวศุกร์ สัปดาห์นี้มีตำแหน่งอยู่บริเวณเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มดาวแกะกับกลุ่มดาววัว เราสามารถเห็นดาวศุกร์ได้ตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท เวลาประมาณ 18.40 น. ดาวศุกร์อยู่ที่มุมเงยเกือบ 20 องศา หลังจากนั้นเคลื่อนต่ำลง ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ แต่อาจเห็นว่าดาวศุกร์หายลับไปก่อนหน้านั้นได้ หากใกล้ขอบฟ้ามีเมฆหมอกหนาทึบบดบัง

ขณะที่ดาวศุกร์ใกล้ตกหรือตกไปแล้วไม่นานทางทิศตะวันตก ดาวพฤหัสบดีจะเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตรงกันข้าม คือ ทิศตะวันออก ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสามารถช่วยให้มองเห็นดาวบริวารบางดวงของดาวพฤหัสบดี อย่างไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต ซึ่งเป็นดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่และสว่างที่สุดของดาวพฤหัสบดี

ดาวอังคารและดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ขึ้นเหนือขอบฟ้ามาอยู่ที่มุมเงยมากกว่า 10 องศา ตั้งแต่เวลาตี 1 หลังจากนั้นจะเคลื่อนสูงขึ้น เมื่อถึงเช้ามืด ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนไปอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่ดาวอังคารและดาวเสาร์อยู่สูงทางทิศใต้

สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์จนเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด โดยช่วงแรกอยู่ในกลุ่มดาวปลา วันที่ 22 เม.ย.-1 พ.ค. เคลื่อนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวซีตัสซึ่งอยู่ติดกัน ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันสุดท้ายของเดือน กลางเดือนนี้ถึงกลางเดือนพ.ค.จึงเป็นช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดี

หลังจันทร์ดับในวันที่ 16 เม.ย. จะเข้าสู่ข้างขึ้น จันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน วันอังคารที่ 17 เม.ย. ดวงจันทร์อยู่ห่างไปทางซ้ายมือด้านล่างของดาวศุกร์ที่ระยะ 8 องศา วันถัดไปเคลื่อนไปอยู่ซ้ายมือด้านบน จากนั้นคืนวันพฤหัสบดีที่ 19 เม.ย. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวตาวัวซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาววัวที่ระยะ 4 องศา

ช่วงประมาณวันที่ 16-25 เม.ย.ของทุกปี มีฝนดาวตกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือฝนดาวพิณ มีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวพิณ เป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือซึ่งจะขึ้นเหนือขอบฟ้าราว 4 ทุ่ม และอยู่สูงสุดในเวลาตี 5 ปีนี้ประเทศไทยมีโอกาสเห็นดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ดีที่สุดในช่วงใกล้เช้ามืดของวันจันทร์ที่ 23 เม.ย. 2561 โดยคาดว่าจะตกในอัตราสูงสุดราว 15 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ต้องใช้ความอดทนในการเฝ้ารอสถานีอวกาศนานาชาติโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ โดยมีลักษณะเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดหรือหัวค่ำ สัปดาห์นี้มีโอกาสเห็นได้หลายครั้ง ที่สว่างและน่าสนใจมีดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 เม.ย. 2561 กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.47 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวาพร้อมกับสว่างขึ้น ก่อนจะหายลับไปในเงามืดของโลกในอีกราว 3 นาทีถัดมาขณะอยู่ที่มุมเงย 51 องศา

วันอังคารที่ 17 เม.ย. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.39 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 19.42 น. ที่มุมเงย 33 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง ก่อนจะสิ้นสุดการมองเห็นเมื่อสถานีอวกาศเข้าสู่เงามืดของโลกขณะอยู่ทางทิศใต้ในเวลา 19.43 น. ที่มุมเงย 19 องศา