posttoday

เข้าใจความหยาบคาย เข้าใจคำหยาบคาย

13 พฤษภาคม 2561

สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่คนสนใจที่สุดคงไม่พ้นข่าวน้องชุดไทยคล้องพวงมาลัยให้คณะทัวร์จีนด้วยท่าทีที่ไม่เต็มใจปฏิบัติหน้าที่

สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่คนสนใจที่สุดคงไม่พ้นข่าวน้องชุดไทยคล้องพวงมาลัยให้คณะทัวร์จีนด้วยท่าทีที่ไม่เต็มใจปฏิบัติหน้าที่ จะแอ็กติ้งฝืนยิ้มสวัสดีให้แต่ละทีก็เพียงแค่จังหวะครึ่งวินาทีลั่นชัตเตอร์ถ่ายรูปที่ระลึก ดูตลกปนหยาบคาย จนชาวจีนเอาไปทำคลิปล้อเลียน

กระแสตำหนิและเห็นใจปนกันไป แต่เรื่องเลยเถิดใหญ่เมื่อน้องชุดไทยโพสต์ข้อความโต้กลับคำตำหนิ...

“ขอโทษนะคะ ลองมาทำงานแบบพวกหนูนะ แล้วคุณจะรู้ว่าพวกหนูร้อนแค่ไหน บวกกับความที่สื่อสารไม่รู้เรื่องกับพวกคนจีน ร้อนก็ร้อน พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง คนอะไรจะให้ยกมือไหว้แล้วต้องยิ้มทั้งวัน แค่ความร้อนบวกกับการสื่อสารไม่ได้ ก็ปวดหัวแล้วนะคะ หนูเหนื่อยพูดเป็นสิบรอบก็ยังไม่เข้าใจกันอยู่ ลองมาต้อนรับคนจีน 2,000 คนทุกวันและทั้งวัน คุณไม่รู้เรื่อง คุณไม่ได้มาทำงานแบบพวกเรา คุณไม่ต้องวิจารณ์ค่ะ สีหน้าของเราเป็นแบบนี้ทุกคน ไม่ว่าเด็กคล้องหรือช่างกล้อง เพราะเราไม่ได้ถ่ายบริษัทคุณบริษัทเดียวค่ะ เราต้องรีบถ่ายบัสต่อบัส เพราะมีอีกหลายบริษัทที่เขายืนรอให้เราถ่าย คนอะไรจะให้ยิ้มทั้งวัน แกล้งบ้าหรอ วิจารณ์กันให้มากๆ นะ ใครไม่ได้มาทำงานแบบนี้ไม่รู้หรอก...”

ถ้าอ่านแล้วเห็นใจน้องคนนี้ขึ้นมาบ้าง ต่างกับกระแสส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะผมได้แก้คำผิด ตัดคำสบถหยาบคายออกไป และแทนที่บางคำด้วยคำที่มีความหมายใกล้เคียงด้วยคำที่ขีดเส้นใต้ไว้

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายของน้องชุดไทยเป็นที่เข้าใจได้และน่าจะได้รับความเห็นใจมากขึ้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำก็ตาม

แต่ “หยาบคายผิด ชีวิตเปลี่ยน” ทั้งๆ ที่สาระเดียวกัน จากที่จะเห็นใจจึงกลายเป็นอยากประณาม

คำสบถหยาบคายช่างเลวทราม (หมายถึงตัวคำสบถ มิใช่คนพูด) มันทำให้สถานการณ์เลวร้าย เพราะมันเอาไว้ดูถูก หมิ่นประมาทคู่สนทนา

แต่นักวิจัยเรื่องภาษากลับพบว่าคำสบถหยาบคายไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด แถมยังมีประโยชน์อยู่ด้วย มันจึงอยู่คู่กับทุกวัฒนธรรมมานมนาน

คุณประโยชน์แรก คือ มันมีเอาไว้แสดงอารมณ์รุนแรง ซึ่งสามารถช่วยระบายอารมณ์ คลายความเจ็บปวดของผู้สบถได้

Melissa Mohr ผู้เขียนหนังสือ “Holy Sh*t: A Brief History of Swearing” ว่าไว้ “หากเอาคำสบถหยาบคายออกไป (จากมนุษย์) ก็เหลือแต่วางมวย ดวลปืน กันไปเลย”

และสำหรับคนไม่มีทางสู้มันย่อมสามารถช่วยบรรเทาให้เราไม่ทำร้ายตัวเองเช่นกัน

แต่คำสบถจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อไม่ได้ถูกใช้พร่ำเพรื่อ นักวิจัยยังฝากขอบคุณกลุ่มอนุรักษนิยมที่กดให้คำสบถเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะหากคำสบถไม่ถูกห้าม และได้รับให้อยู่ในดินแดนเดียวกับภาษาทั่วไป มันจะสูญเสียคุณสมบัติการละเมิดสภาวะใดๆ จนทำให้คำสบถหยาบคายหมดพลังไปในที่สุด

คำสบถจึงมีดีอยู่ได้ก็เพราะคำสบถเป็นสิ่งไม่ดี หยาบคาย และละเมิดกรอบกติกามารยาทนั่นเอง

ส่วนวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นน่าสนใจ คำสบถญี่ปุ่นแปลออกมาแล้วดูสะอาดสะอ้านประหนึ่งคำบอกคุณสมบัติธรรมดา เช่น ไอ้บ้า ขี้โม้ หนวกหู หมั่นไส้ ฯลฯ ไม่ค่อยมีเรื่องเพศ หรือสิ่งสกปรกใดเจือปน

ในจีนโบราณก็เช่นกัน ชาวจีนจะมีชื่อจริง ชื่อกลาง และชื่อเล่น ให้เรียก เช่น โจโฉ มีชื่อกลางว่าเมิ่งเต๋อ ชื่อเล่นว่าอาหม่าน

เจอกันตัวเป็นๆ ถ้าจะให้เกียรติต้องเรียก เมิ่งเต๋อ ถ้าจะเหยียดหยามให้เรียก โจโฉ หรือหากเรียกว่า อาหม่าน ก็อย่าหวังว่าจะจากกันด้วยดี ยกเว้นแต่ผู้มีตำแหน่งหรืออาวุโสสูงกว่า หรือเพื่อนสนิทกันมากๆ เท่านั้นจึงเรียกได้

คำสบถหยายคายยังช่วยทำลายกรอบความห่างเหิน เพิ่มเติมความสนิทระหว่างกัน เรื่องนี้ทุกท่านคงพอจะรู้ เพราะหากหยาบคายใส่กันแล้วยังรับได้ นั่นแสดงว่า กำแพงกั้นระหว่างสองเราได้มลายสิ้นไปแล้ว

สุดท้ายแล้วคำสบถยังสามารถกระตุ้นให้คนรอบตัวหันมาให้ความสำคัญ พูดง่ายๆ คือสามารถใช้เรียกร้องความสนใจได้ดี

มีงานวิจัยส่วนหนึ่งของ John Stanley Hunter ว่าไว้ “คนฉลาดมักมีคุณสมบัติชอบสบถหยาบคาย” หากเชื่อมโยงจากประโยชน์ของการสบถข้างต้นย่อมเข้าใจได้ เพราะคนที่รู้จักสรรหาและกล้าใช้อาวุธลับเรียกร้องความสนใจ ทำลายความห่างเหิน พาตนเองและผู้อื่นข้ามอุปสรรคการอธิบายทางภาษา และกล้าระบายอารมณ์กดดันอย่างอิสระ ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่กล้าใช้

แต่ไหงการใช้คำสบถของน้องชุดไทย (และอีกหลายๆ คน) จึงทำเรื่องเลวร้ายลง นักวิชาการอำกันหรือไร

จึงขอตั้งข้อสงสัยไว้ว่า หากการสบถช่วยระบายอารมณ์ คนสบถง่ายอาจจะเป็นแค่คนที่มีขีดจำกัดทางอารมณ์คับแคบ ได้รับบาดเจ็บง่าย

หากการสบถช่วยข้ามอุปสรรคการอธิบาย คนสบถง่ายอาจเป็นคนที่ขาดทักษะในการอธิบายสถานการณ์

หากการสบถช่วยเรียกร้องความสนใจ คนสบถง่ายอาจเป็นคนที่ไม่คิดว่าจะมีใครรับฟังคนเองได้ถ้าไม่สบถ

คำสบถหยาบคายจึงกลายเป็นอาวุธทำร้ายคนอื่นที่ย้อนมาทำร้ายตัวเอง

ด้านคนที่ใช้คำสบถหยาบคายซ้ำเติมน้องชุดไทย... ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่คราวนี้เป็นทีของ “ข้า” เท่านั้นเอง

เพราะในโลกโซเชียล เราและคนอื่นอาจไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น