posttoday

ปรองดองสมานฉันท์ บูรณาการมวลชน

13 พฤษภาคม 2561

ท่านผู้อ่านไม่ต้องพิจารณาในรายละเอียดให้วุ่นวายใจ เพราะแม้แต่คนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

ท่านผู้อ่านไม่ต้องพิจารณาในรายละเอียดให้วุ่นวายใจ เพราะแม้แต่คนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ส่งมานั้นก็อธิบายไม่ได้ แต่สำหรับผู้เขียนออกจะสะกิดใจอยู่ในบางเรื่อง โดยเฉพาะผลลัพธ์ใน 3 เรื่อง คือ “สถาบัน ปรองดองสมานฉันท์และบูรณาการมวลชน” ซึ่งในส่วนของ “สถาบัน” ไม่น่าสงสัยอะไรเท่าไร เพราะคงจะหมายถึงการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองของไทย ที่ผู้ปกครองทุกยุคต้องยึดเป็นหลักมาโดยตลอด แต่ในส่วนของ “ปรองดองสมานฉันท์” และ “บูรณาการมวลชน” ออกจะงงๆ เพราะอาจจะตีความไปแนวที่ว่าผู้ปกครองประเทศขณะนี้กำลัง “บงการ” ประเทศไทยไปสู่ความเป็น “เบ็ดเสร็จนิยม” บางรูปแบบก็ได้

คำว่า “เบ็ดเสร็จนิยม” เป็นภาษาวิชาการทางรัฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Totalitarianism มักใช้ในความหมายของการปกครองประเทศในระบอบเผด็จการที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจเข้าไปจัดการกับทุกวิถีชีวิตของผู้คนและควบคุมการดำเนินกิจกรรมของทุกๆ องค์กรในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ การควบคุมโครงสร้างของระบบการเมือง (การควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโรดแมปต่างๆ ก็รวมอยู่ด้วย) การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง (ยกตัวอย่างนโยบายประเทศไทย 4.0 ก็อยู่ในแนวนี้) และการกำหนดสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ดังที่กำลังจะมีการสร้าง “ปรองดองสมานฉันท์และบูรณาการมวลชน” ดังที่แสดงอยู่ในแผนภาพนี้

ในมุมมองทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ ถ้าหากแผนภาพนี้เป็นแนวคิดที่รัฐบาลได้คิดขึ้นและได้นำมาใช้จริงๆ ก็สามารถฟันธงตามทฤษฎีได้เลยว่า “ยากส์...ที่จะประสบความสำเร็จ”

ในประการแรก ด้วยปัญหาที่เกิดจาก “ความย้อนแย้ง” ในแนวคิดประชาธิปไตยที่รัฐบาลถูกกระแสมวลชนบังคับ เช่น ต้องมีการเลือกตั้ง ร่วมกับความจำใจที่รัฐบาลต้องนำประเทศไปสู่แนวทางนั้นตามกระแสโลก รัฐบาลย่อมจะมีความยากลำบากที่จะ “ลาก” มวลชนในประเทศซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกันมากว่าสิบปีให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ หรือมิอาจจะบูรณาการมวลชนนั้นได้โดยง่าย

ประการต่อมาเป็นปัญหาของ “ความเป็นประชาธิปไตย” โดยตรง เพราะความเป็นประชาธิปไตยหมายถึงสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด เสรีภาพในกิจกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง และสิทธิต่างๆ ที่รัฐจะต้องคุ้มครองและส่งเสริม แต่เมื่อรัฐต้องการที่จะจัดการความคิดและควบคุมวิถีชีวิตต่างๆ ของผู้คน รวมถึงที่รัฐนั้นเองก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นรัฐนั่นเองที่ “ผิดกติกา” ของระบอบประชาธิปไตย ทำให้รัฐไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ และที่สุดอาจจะสูญสิ้นความชอบธรรมไปด้วย

อีกประการหนึ่งเป็นปัญหาด้าน “กลไกในการดำเนินกิจกรรม” ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ใช้กลไกของรัฐ คือหน่วยราชการต่างๆ เป็นหลักในการดำเนินกิจกรรม (ซึ่งแท้จริงนั้นคือการเข้าไปควบคุมและจัดการ) ภายใต้การปลูกฝังอุดมการณ์ของคนในชาติให้เป็นไปในแนวเดียวกัน (ที่มีเพียงระบอบเดียวที่ใช้วิธีการแบบนี้) ที่เรียกว่า “ไทยนิยม” พร้อมกับแฝงร่วมไปกับ “ผู้นำนิยม” คือไม่อาจจะมีใครปกครองประเทศได้ดีไปกว่าคนที่คณะผู้มีอำนาจได้กำหนดตัวไว้แล้ว ภายใต้กิจกรรมที่จัดทำไปทั่วประเทศ ที่เรียกว่า “ไทยนิยมยั่งยืน” นั้น

ถ้าผู้เขียนอ่านแผนภาพนี้ไม่ผิด แผนภาพนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ใช้การอธิบายถึงกระบวนการที่เรียกว่า “ฝายชีวิต” ภายใต้กรอบคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกรอบคิดและกระบวนการทั้งหลายที่ดำเนินการไม่มีอะไรให้วิจารณ์แต่อย่างใด เพราะได้เน้นการมีส่วนร่วมและนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ดี เพียงแต่มีความกังวลในเรื่อง “ผลลัพธ์” ที่ออกจะ “ทะแม่งๆ” ว่าผู้ปกครองประเทศนี้กำลังจะนำการปกครองประเทศไทยไปสู่การปกครองระบอบใด ดังที่ได้วิจารณ์มานี้เกี่ยวกับ “แผนภาพ” หรือที่เรียกในภาษาการนำเสนอว่า “Infographic” ดูจะเป็นที่นิยมของคณะผู้ปกครองยุคนี้ โดยมีหลายคนสังเกตเห็นว่าในการประชุมต่างๆ ทั้งในและนอกสถานที่ของรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม และในระดับจังหวัด จะมีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่เตรียมการนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกนี้อย่างเอาจริงเอาจัง รวมทั้งในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็มีการเปิดอบรมหรือส่งคนไปอบรมเรื่องนี้อย่างมากมาย จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าแผนภาพที่ส่งมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติภาพนี้ จะเป็นการ “ลองวิชา” ดังกล่าวหรือไม่

ท้ายนี้ขออนุญาตประชาสัมพันธ์กิจกรรมของคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สักเล็กน้อย ที่จะจัดให้มีการสัมมนา ในเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงจะสัมฤทธิผลได้จริงหรือไม่” วิทยากรประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พงษ์เทพ เทพกาญจนา และ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ในวันพุธที่ 16 พ.ค. กลางสัปดาห์นี้ เริ่มลงทะเบียนเวลา 08.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล หลักสี่ มีอาหารกลางวันเลี้ยงด้วย โทรศัพท์สำรองที่นั่งที่ 02-830-9184-5 หรือที่เว็บไซต์ของรัฐสภา

ครั้งต่อไปขอเสนอหัวข้อ “รัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่” ดูจะน่าสนใจมากๆ เลยครับ