posttoday

ภูเก็ต (1)

10 มิถุนายน 2561

สถานที่หลายแห่งในประเทศไทย ตั้งชื่อตามทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่

โดย ถาวร หลีกภัย

สถานที่หลายแห่งในประเทศไทย ตั้งชื่อตามทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ก็มีพลอย ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีทองสมชื่อตำบล จ. ระนอง ก็มีการทำเหมืองแร่ดีบุกทุกอำเภอ จนเรียกกันว่าเมืองแร่นอง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นระนอง

พ.ศ. 2509 ผมได้มาทำการสำรวจแหล่งแร่ดีบุก-ดินขาวที่หาดส้มแป้นใน จ.ระนอง ได้เห็นว่าดีบุกส่วนใหญ่เกิดอยู่ในหินแกรนิต Pneumatolysis ได้เปลี่ยนแปลงหินแกรนิตโดยไอและก๊าซร้อน เมื่อหินแม่ผุพัง แร่ดีบุกที่หนักและทนต่อการผุกร่อน จะถูกน้ำพัดพาไปจากที่เดิมและไปสะสมตัวในที่ใหม่ ถ้าไม่ไกลจากหินแม่ ก็เป็นแร่พลัดไหล่เขา (Eluvium) และแร่พลัดเชิงเขา (Colluvium) ถ้าแร่ถูกสายน้ำพัดพาไปตกสะสมตัวอยู่ไกลพอประมาณจากหินแม่และเป็นที่ราบ ก็เรียกว่า แหล่งลานแร่ (Placer) บริเวณร่องน้ำเก่าเป็นบริเวณที่เหมาะสมต่อการสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกแบบลานแร่

ภาพที่คนใช้เลียงร่อนหาแร่ดีบุกตามสายน้ำ เป็นวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวบ้าน จ.ระนอง ที่ผมได้พบเห็นในเวลานั้น

ภูเก็ต (1)

การเกิดแร่ดีบุกบนเกาะภูเก็ตเป็นแบบ Hydrothermal Deposit โดยแร่ดีบุกจะเกิดร่วมกับสายแร่ควอตซ์และแร่ดีบุกยังเกิดแบบ Pegmatite Vein ด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากการเกิดแบบหาดส้มแป้น จ.ระนอง ที่แร่ดีบุกเกิดอยู่ในหินแกรนิต

อย่างไรก็ตาม การสะสมตัวของแร่ดีบุกทั้งที่ระนองและภูเก็ตก็เป็นแบบเดียวกัน การทำเหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ตมีเหมืองรู เหมืองแล่น เหมืองหาบ เหมืองฉีด เหมืองสูบ และเหมืองเรือขุด การยุบตัวของฝั่งทะเลอันดามันมีผลให้แหล่งลานแร่ดีบุกบางส่วนที่เคยอยู่บนบกไปอยู่ในทะเล ใน พ.ศ. 2450 ภูเก็ตได้ชื่อว่ามีเรือขุดแร่ดีบุกด้วยกะพ้อลำแรกของสยามและเป็นลำแรกในภูมิภาคนี้ของโลกด้วย

ในการตรวจแร่ดีบุกในภาคสนาม นอกจากจะสังเกตจากคุณสมบัติทางกายภาพแล้วก็สามารถตรวจแร่ที่สงสัยด้วยการใส่ตัวอย่างแร่ลงในจานสังกะสีแล้วเทกรดเกลือเจือจางให้ท่วมตัวอย่างแร่แล้วทิ้งไว้สักพัก ถ้าเป็นแร่ดีบุกผิวของแร่ดีบุกจะเปลี่ยนสีจากน้ำตาลดำเป็นสีเทาของโลหะดีบุก ดังสมการ

Zn + 2HCl → ZnCl2 + H2

SnO2 + 2H2 → Sn + 2H2O

ด้วยทำเลที่โดดเด่นของเกาะภูเก็ต และมีความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ดีบุกในเกาะและพื้นที่ใกล้เคียง โรงงานถลุงแร่ดีบุกของบริษัท ไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่ง จึงได้มาตั้งโรงงานที่เกาะนี้ และเริ่มเปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2508

โลหวิทยาของการถลุงแร่ดีบุกไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผสมแร่ดีบุกกับถ่านหินแอนทราไซต์ในเตาถลุงแบบเตานอน แล้วเผาให้ร้อนถึง 1,200 องศาเซนติเกรด จะได้โลหะดีบุก

SnO2 + C → Sn + CO2

ภูเก็ต (1)

โลหะดีบุกหลอมเหลวง่าย ทนต่อการกัดกร่อนและไม่เป็นสนิมจึงใช้ทำประโยชน์ในการเคลือบผิว ดีบุกนำไปเคลือบแผ่นเหล็กจะได้เหล็กวิลาส (Tinplate) นำไปใช้ในการทำภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม

ดีบุกผสมกับโลหะอื่นเป็นโลหะผสม (Alloy) เช่น ดีบุกผสมทองแดงเป็นสำริด (Bronze) โลหะผสมดีบุกพลวงและทองแดงใช้ทำเป็นลูกปืน ดีบุกผสมตะกั่วเป็นตะกั่วบัดกรี

พ.ศ. 2513 ผมมาสำรวจเหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต ภาพถ่ายของผมกับนายเหมืองในเหมืองสูบกลางเกาะภูเก็ต ยืนยันได้ว่าในขณะนั้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกบนเกาะนี้ยังรุ่งเรืองอยู่ และภาพที่ผมนั่งสนทนากับนายเหมืองที่ริมชายทะเล จะเห็นว่าเกาะภูเก็ตยังสงบเป็นชนบทอยู่ ฉากหลังในภาพเป็นทะเลเวิ้งว้างไม่มีเรือสักลำในทะเล

พ.ศ. 2520 มีการค้นพบว่าตะกรันที่มาจากการถลุงแร่ดีบุกที่ถูกทิ้งมานานบนเกาะนี้จนถูกเอาไปถมที่ ทำถนนนั้น ในตะกรันมีแร่ราคาแพง คือ โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ ผสมอยู่ในตะกรันด้วย ชาวบ้านจึงแห่กันไปขุดถนนเพื่อหาตะกรันเอามาขาย

ภูเก็ต (1)

พ.ศ. 2529 เกิดจลาจลบนเกาะภูเก็ต จนมีการเผาโรงงานแทนทาลั่ม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกค่อยๆ ซบเซาลง แต่การท่องเที่ยวกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับจนวันนี้ภูเก็ตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกไปแล้ว

มนุษย์รู้จักทำสำริดหรือสัมฤทธิ์โดยใช้ดีบุกผสมกับทองแดงยุคสำริดมีมากกว่า 3,000 ปี แต่เมื่อกว่า 300 ปีนี้เอง ชาติยุโรปแย่งชิงกันเพื่อทำการค้าขายดีบุกบนเกาะภูเก็ตแห่งนี้

บันทึกข้อความต่อไปนี้ ผมได้คัดลอกจากประวัติกรมโลหกิจหนังสืออนุสรณ์วันสถาปนากรมโลหกิจครบรอบ 72 ปี 1 มกราคม 2506

ความรู้ในเรื่องทรัพยากรทางแร่ของไทย ตลอดจนสินค้าขาเข้า ขาออกอันเกี่ยวด้วยแร่ของไทยนั้น ในรัชกาลไหนก็ไม่แจ่มแจ้งเหมือนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะในรัชกาลนั้นมีการติดต่อในทางการเมืองและการค้ากับประเทศฝรั่งเศสมาก มีราชทูตมาติดต่อกับเมืองไทยอย่างเป็นพิธีการถึงสองครั้ง การติดต่อครั้งนั้นทางฝรั่งเศสได้มีจดหมายเหตุไว้มาก ทั้งของคณะราชทูต และของพ่อค้าฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุง นอกจากนั้นหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นกับฝ่ายไทยก็ดี หนังสือส่วนตัวของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็ดี ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่