posttoday

พระแก้วมรกตที่ไม่ใช่มรกต

22 กรกฎาคม 2561

เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปกราบพระแก้วมา อยากจะเขียนเรื่องที่คาใจเกี่ยวกับพระแก้ว

โดย กรกิจ ดิษฐาน

เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปกราบพระแก้วมา อยากจะเขียนเรื่องที่คาใจเกี่ยวกับพระแก้ว

เป็นที่รู้กันดีว่าพระแก้วมรกตไม่ได้ทำมาจากมรกต แต่ “น่าจะ” เป็นหยกชนิดหนึ่ง ทำให้บางคนรู้สึกว่าการตั้งชื่อพระแก้วมรกตไม่ค่อยจะถูกต้องนัก โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่รู้จักพระแก้วชื่อ Emerald Buddha (แปลว่าพระพุทธรูปมรกต)

แต่จริงๆ แล้วชื่อพระแก้วมรกตไม่ได้สะกดแบบนี้มาตั้งแต่แรก ในคัมภีร์รัตนพิมพ์วงศ์ แต่งโดยพระพรหมราชปัญญาแห่งภูเขาหลวง (สุโขทัย?) เล่าตำนานพระแก้วได้สะกดชื่อในภาษาบาลีว่า “อมรโกฏ” เอกสารรุ่นต่อต่อมามีผิดเพี้ยนเป็น “อมรกต” ก็มีและน่าจะเพี้ยนจนกลายเป็น “มรกต” ในปัจจุบัน

ต้นฉบับภาษบาลีมีอยู่ว่า

“เอวญฺจ ปน วตฺวา ปภสฺสรนิลวณฺณํปิ อมรโกฏรตนํ ทสฺเสนฺโต เทวานมินฺทํ เอตทโวจุํ สเจ มหาราชรัตนํ คเหตฺวา สุราสุรมหิตํ วิจิตฺตํ ชินพิมฺพํ กาตุกามสฺส นาคเสนเถรสฺส ทเทยฺยาถ อิมมฺปน ปรมจกฺกวตฺติปริโภคภูตํ มณิโชติรตนํ วชฺเชตฺวา อมรโกฏรตนํ คณฺหถ เอตมฺปิ น มหาราช วฏฺฏโต ติวังคุลาธิกพฺยามปริกฺเขปกปฺปมาณํ ปัญฺญาสาธิกสตฺตสตปฺปมาณคเณหิ ปริวาริตํ มณิโชติรตน ปริกฺเขปกตปากตปาการสมิเป ฐิตนฺติ ฯ อถ ทสสตนยโน เทวานมินฺโท ตํ นีโลภาส อมรโกฏรตนํ คเหตฺวา วิสฺสุกมฺเมน สทฺธึ วิปุลฺลปพฺพโต โอตริตฺวา เถรํ อุปสังกมิตฺวา วนฺทิตฺวา อิมินา ภนฺเต สกลชนหิตารปวรชินพิมฺพํ กาเรถาติ เถรสฺส นิยาเทต์ตวา สกฏฺฐานเมว อคมาสิ ฯ”

เนื้อหาแปลไทยของตอนนี้มีอยู่ว่า

“ก็แลครั้นทูลดังนั้นแล้ว จึงสำแดงอมรโกฏรัตน มีวรรณเขียวประภัสสร ทูลท้าวเทวานิมนทรว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าหากว่าพระองค์ถือเอารัตนแล้วพึงถวายแก่พระนาคเสนเถรผู้ใคร่ เพื่อจะสร้างพระชินพิมพ์อันวิจิตรให้เป็นของเทวดามนุษย์บูชาไซร้ พระองค์จงเว้นมณีโชติรัตนอันเกิดเป็นบริโภครัตนของพระเจ้าบรมจักรพรรดิดวงนี้ไว้ แล้วถือเอาอมรโกฏรัตนเกิด อมรโกฏรัตนแม้นมีประมาณโดยรอบวาหนึ่งยิ่งด้วยสามองคุลีโดยกลม (คือวัดได้อ้อมหนึ่งกับ 3 นิ้ว) มีหมู่รัตน 750 แวดล้อมแล้ว ตั้งอยู่ในที่ใกล้กำแพงหอมล้อมมณีโชติรัตนไว้ ที่นั้นท้าวทศสตนัยนาผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดาทั้งหลาย ถือเอาอมรโกฏรัตนอันมีรัศมีเขียวนั้น พร้อมด้วยพระวิสสุกรรมลงจากเขาวิบูลบรรพต เข้าไปใกล้พระเถรแล้วอภิวันท์มอบถวายแก่พระเถรด้วยคำว่าข้าแต่พระเถรผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงให้ช่างทำพิมพ์พระชินสีห์ ผู้ประเสริฐผู้ทำประโยชน์แก่สกลชนด้วยรัตนนี้เถิด แล้วจึงเสด็จไปสู่สถานของพระองค์นั้นเทียว”

พระแก้วมรกตที่ไม่ใช่มรกต

เท่าที่ผมทราบในภาษาสันสกฤต “อมรโกฏ” กับ “มรกต” เป็นคนละคำกัน ความหมายก็ไม่เหมือนกัน มรกต นั้นก็คือ Emerald

พระปริยัติธรรมธาดา (แพ) ผู้แปลรัตนพิมพ์วงศ์เป็นภาษาไทย ท่านอธิบายไว้ว่า “อมรโกฏ” แปลว่า ท่อนแก้วของเทวดา และท่านยังเทียบกับความหมายของมรกตในภาษาสันสกฤต เพียงแต่มันเทียบกันลำบากเพราะสะกดคนละแบบ

ผมจึงไม่เห็นด้วย (พลางยกมือท่วมหัวไหว้พระปริยัติธรรมธาดา ขอขมาว่ามิได้ปรามาสท่านว่าแปลไม่ถูก) โดยตรวจจากพจนานุกรมภาษาสันกฤต Sanskrit-English Dictionary, ของ M. Monier William พบว่า อมรโกฎแปลว่าป้อมของเทวดา (อมร แปลว่าผู้เป็นอมตะหมายถึงเทวดา ส่วน โกฏ หรือโกฏฺฏ แปลว่า ป้อมปราการ)

ในพจนุกรมภาษาบาลีของ The Pali Text Society’s Pali-English dictionary ผมไม่พบคำคำนี้ แต่เราจะพบคำว่า อมร กับคำว่า โกฏฺฐ ที่แปลว่าป้อม ซึ่งเป็นคำเดียวกับ โกฏ ในภาษาสันสกฤตนั่นเอง

ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่อมรโกฏจะเป็นชื่อเฉพาะ

ในรัตนพิมพ์วงศ์พรรณนาว่า “อมรโกฏรตนํ” แปลว่า แก้วอมรโกฏ คำว่าอมรโกฏจึงอาจเป็นชื่อเฉพาะของแก้วชนิดนี้เหมือนกับแก้วมณีโชติ (มณิโชติรตนํ) ที่ตอนแรกท้าวสักกะจะนำมาถวายพระนาคเสนเพื่อใช้สร้างเป็นพระพุทธรูป แต่พวกกุมภัณฑ์ที่รักษาแก้วไม่ยอมให้ โดยทูลว่าแก้วมณีโชติเป็นของควรคู่กับพระจักรพรรดิราชเท่านั้น ให้นำ “อมรโกฏรตนํ” ไปสร้างพระจะดีกว่า

ดังนั้นผมขอสรุปว่า แก้วอมรโกฏเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ได้แปลว่า แก้วมรกตอย่างที่เข้าใจ

แล้วทำไมพระแก้วจึงเป็นสีเขียวเหมือนมรกต?

อันที่จริงแล้วพระแก้วอมรโกฏไม่ได้เขียวเพราะเป็นมรกต แต่มีพรรณเลื่อมปภัสสรอย่างสีนิล (ปภสฺสรนิลวณฺณปิ อมรโกฏรตนํ) หรือมีแสงเรืองสีนิล (นีโลภาสํ อมรโกฏรตนํ)

สีนิลนั้นเขียวเข้มเหลือบคราม หรือสีน้ำเงินเข้ม บางคนจึงแปลว่าสี Blue บางครั้งเข้มมากจนออกดำ

ดูดีๆ พระแก้วอมรโกฏท่านเขียวเข้มมากเหมือนกัน