งอกงามจากความคับข้อง
ตราบเท่าที่มนุษย์เป็นสิ่งเปิดกว้าง หัวใจที่คลี่บานย่อมไพศาลไม่มีขอบเขต เพียงแค่มนุษย์ยินยอมเปิดหัวใจ โลกทั้งใบย่อมได้รับการโอบอุ้ม
โดย ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน ภาพ : พีรัช อาชามาส
ตราบเท่าที่มนุษย์เป็นสิ่งเปิดกว้าง หัวใจที่คลี่บานย่อมไพศาลไม่มีขอบเขต เพียงแค่มนุษย์ยินยอมเปิดหัวใจ โลกทั้งใบย่อมได้รับการโอบอุ้ม
มหากาพย์ความขัดแย้งจากอดีตที่ไม่มีจุดเริ่มต้น สู่มหาความคับข้องในอนาคตที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่เคยมีครั้งใดที่ไม่มีมนุษย์นำแสดง และค่อนข้างแปลกที่ทุกฉากตอนมักจบลงบนโต๊ะเจรจา
นั่นหมายความว่ามนุษย์พูดคุยกันรู้เรื่อง และความทุกข์ถูกปลดเปลื้องได้จากการพูดคุย
ตามความเชื่อของฮินดู “เอราวัณ” คือ นามเรียกขานช้าง 33 เศียร พาหนะโปรดแห่งพระอินทร์ ที่องค์ศิวะมหาเทพเป็นผู้ประทานให้ แต่เอราวัณที่จะกล่าวถึงคือตำบลหนึ่งของจังหวัดเลย ซึ่งประสบความสำเร็จในการคลายปมความขัดแย้งด้วยการเปิดใจพูดคุย
ก่อกำเนิดเป็น “กติกาชุมชน” ใช้ถักทอสายสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ
พวงเพ็ชร ทองปั้น ชาวเอราวัณ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตคนเอราวัณมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พออยู่พอกิน ยังชีพด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทำประมง อยู่ร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเรื่อยมา
แต่ด้วยความมั่งคงที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความจริงของชีวิต ความสุขของคนเอราวัณจึงสำแดงตัวเพียงครู่คราว และเมื่อเวลาทอดยาว เขาเหล่านั้นจึงพานพบกับความทุกข์จากความเปลี่ยนแปลง
“ก่อนหน้านี้คนเอราวัณพึ่งพิงแหล่งน้ำ โดยไม่มีการกำหนดระบบระเบียบใดๆ ในการใช้แต่อย่างใด ปัญหาเริ่มจากมีคนนอกพื้นที่เข้ามา แอบลักลอบจับปลาด้วยเครื่องมือทำลายล้าง ใช้ไฟฟ้าชอร์ต จับกันทีละมากๆ จนปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นความอุกอั่ง (ภาษาถิ่นแปลว่า อึดอัด-คับข้องใจ) ของคนในชุมชน”
เธอระบายผ่านเวที “อุกอั่ง-คับข้องใจ คลี่คลายได้ด้วยธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว “เราเห็นพ้องกันว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นกันอย่างไร”
อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของธรรมะจัดสรรที่ทำให้ อุเทน แสงนาโก ซึ่งเชื่อมั่นในกระบวนการการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วม ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดเทศบาลตำบลเอราวัณ อย่างถูกที่ถูกเวลา
เขาเริ่มชักชวนชาวบ้านล้อมวงพูดคุยถึงความอัดอั้นใจในเรื่องต่างๆ และขยายวงจนครอบคลุมทั้ง 16 หมู่บ้าน ก่อนจะร่วมกันจัดทำ “ข้อตกลงที่ชุมชนยอมรับร่วมกัน” ในนาม “ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการความขัดแย้งตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
“เมื่อมีปัญหา ผมเชื่อว่าเราสามารถเปิดใจพูดคุยกันได้ ผมเพียงทำหน้าที่เชื่อมประสานและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านร่วมกันแสดงออกถึงความทุกข์และแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อเขามีส่วนร่วมก็จะรู้สึกเป็นเจ้าของ และช่วยกันรักษากติกานั้นโดยไม่ยินยอมให้ใครเข้ามาละเมิด”
หมวดที่ 4 ส่งเสริมพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อม ข้อที่ 25 กำหนดไว้ชัดว่า ห้ามมีหรือใช้อุปกรณ์ชอร์ตปลา และข้อ 26 บัญญัติไว้ว่า ให้มีการร่วมปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะทุกปี และมีมาตรการกำหนดห้วงเวลาการจับปลาในแหล่งน้ำสาธารณะ
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ ความทุกข์เรื่องการลักลอบชอร์ตปลาในลำน้ำจะคลี่คลายไปแล้ว หากแต่คนเอราวัณยังพัฒนาต่อ เขาร่วมกันยกระดับแหล่งน้ำด้วยการเปิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดคือบางส่วนของรูปธรรมความงอกงามที่มีต้นทางมาจากความอุกอั่งคับข้องใจ