posttoday

"สารัชถ์ รัตนาวะดี" คุณคือใคร?

23 ธันวาคม 2561

อันดับเศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2561 มีเศรษฐีหน้าใหม่ชื่อ "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยเป็นครั้งแรก

อันดับเศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2561 มีเศรษฐีหน้าใหม่ชื่อ "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยเป็นครั้งแรก

********************************

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ วารสารการเงินธนาคารได้จัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2561 ว่ามีผู้ใดบ้าง ปรากฏว่ามีเศรษฐีหน้าใหม่ชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ เสี่ยกลาง ก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยเป็นครั้งแรกจากการนำหุ้นกัลฟ์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560

โดยในวันแรกของการซื้อขาย ราคาหุ้นกัลฟ์ไปแตะสูงสุดที่ 59.50 บาท จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 45 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 14.50 บาท หรือ 32.22% หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 76.25 บาท ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 หรือเพิ่มขึ้นถึง 69.44% ส่งผลให้สารัชถ์ที่ถือหุ้นกัลฟ์ในสัดส่วน 35.44% มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 57,645 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ของเศรษฐีหุ้นไทยปี 2561

ทั้งนี้ กัลฟ์เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอันดับ 3 ของประเทศ โดยเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ปัจจุบันกัลฟ์มีโรงไฟฟ้าทั้งที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 28 โรง บริหารและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 11,125.6 เมกะวัตต์

สำหรับหุ้นกัลฟ์ถือเป็นมูลค่าหุ้น IPO ที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมูลค่าเกือบ 2.4 หมื่นล้านบาท และได้รับรางวัล Best Deal of the Year Awards จากงาน SET Awards 2018 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของหุ้นกัลฟ์ที่เข้าไปซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ปรากฏว่าภายใน 52 สัปดาห์ จากราคาไอพีโอ 45 บาท ราคาขึ้นสูงสุดที่ 83.75 บาท และต่ำสุดที่ 54.50 บาท โดยล่าสุด (วันที่ 19 ธ.ค. 2561) หุ้นกัลฟ์ปิดที่ราคา 77 บาท

สำหรับ สารัชถ์ รัตนาวะดี นับเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนักการเมืองทุกพรรคและรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททางวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี นายทหารคนสนิทของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีมารดาเป็นน้องสาวของ วารินทร์ พูนศิริวงศ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า มีพ่อตาชื่อ รักษ์ ตันติสุนทร ครอบครัวคหบดี จ.ตาก ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในเขตภาคเหนือมายาวนาน

\"สารัชถ์ รัตนาวะดี\" คุณคือใคร?

ก่อนที่ สารัชถ์ รัตนาวะดี จะก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจขั้นเซียนเหยียบเมฆในปัจจุบัน เขาเป็นเด็กหนุ่มในแวดวงไฮโซที่เข้าไปใกล้ชิดสนิทสนม ช่วยรับแขกชิมไวน์อยู่กับผู้ใหญ่ในแวดวงธุรกิจการเมือง การเงินการธนาคาร และอื่นๆ อยู่ที่ราชกรีฑาสโมสร (Sports Club) จนเป็นที่รู้กันว่าหนุ่มหล่อบุคลิกดีที่ชื่อกลางนั้น มีความสามารถเข้าถึงผู้ใหญ่ในแวดวงต่างๆ ได้อย่างไร และมีใครกันบ้างที่พร้อมจะให้การสนับสนุนเกื้อกูลเด็กหนุ่มคนนี้ให้ก้าวไกลไปให้ถึงฝั่งฝันที่เขาหวังไว้โดยไม่ยากนัก และเป็นที่ประจักษ์ว่า สุวัจน์ ลิปตพัลลภ คือนักธุรกิจการเมืองคนแรกที่สารัชถ์มีความสนิทสนมเคารพรักใคร่อย่างยิ่ง

ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนในรูปแบบของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (Independent Power Producer) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ จำนวน 3,800 เมกะวัตต์ และประกาศซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 1,600 เมกะวัตต์ ในเวลาต่อมา และจากแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก (Western Seaboard) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุให้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลักชายฝั่งทะเล อุตสาหกรรมพื้นฐานเหล็กรีดร้อนรีดเย็น อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และศูนย์กลางการส่งออกทางทะเลของภาคตะวันตกตอนล่าง โดยเฉพาะ อ.บางสะพาน ถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาสูง

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตกและไฟฟ้าดับตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไป ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนอีกด้วย และบริษัทเอกชนที่สามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาและลงนามในสัญญาร่วมกับ กฟผ.มีทั้งหมด 7 ราย โดยโครงการที่อยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี 2 ราย คือ บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอร์เรชั่น ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.เป็นเวลา 25 ปี เมื่อเดือน ก.ค. 2540 โดยมีขนาดกำลังการผลิต 1,468 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินที่มีปริมาณกำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิง กำหนดแล้วเสร็จเข้าระบบ กฟผ. เดือน เม.ย. และ ต.ค. 2546 โรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์ หรือโรงไฟฟ้าบ่อนอก ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม ต.บ่อนอก อ.เมือง มีมูลค่าการลงทุน 30,050 ล้านบาท

โครงการโรงไฟฟ้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสองแห่งประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง 2 ประเภท คือ โรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือ ซึ่งจะใช้ในการลำเลียงถ่านหิน ดังนั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 มาตรา 46 ได้กำหนดให้ประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ซึ่งการจัดทำ EIA ได้แยกเป็น 2 ส่วน คือ โรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือ

เมื่อชาวบ้านบ่อนอกและบ้านกรูดรับรู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของตนจึงได้คัดค้านโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540-ปัจจุบัน โดยยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยเฉพาะมาตรา 59 ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรคัดค้านด้วย โดยมีกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตและเครือข่ายพลังงานยั่งยืนเป็นแกนนำ ซึ่งได้ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาของรัฐ แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและนโยบายการจัดการพลังงานของประเทศ และมีความเห็นว่าจะมีผลเสียหายในด้านมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการทำประมง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทางสังคม และผลกระทบต่อความมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ส่วนรวม ที่สำคัญคือโรงไฟฟ้าบ่อนอกของบริษัท กัลฟ์ อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมาทางทิศใต้เพียง 22 กม. ทำให้ผู้คัดค้านเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของโลกและของประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่นๆ อีกมากมายที่บริษัท กัลฟ์ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าจะแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและยั่งยืน

เมื่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับบริษัทผู้ลงทุนทำโรงไฟฟ้าไม่อาจยุติลงได้ เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จึงประกาศยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ส่งผลให้ บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอร์เรชั่น สามารถย้ายโรงไฟฟ้าจาก ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มายัง ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ในปี 2546-2547 โดยเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใน TOR ที่ทำกับรัฐบาลระบุไว้ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าของกัลฟ์จะต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บริษัท ปตท. กำลังผลิตไฟฟ้าของกัลฟ์ที่แก่งคอยมีกำลังการผลิต 1,468 เมกะวัตต์ และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยังอนุมัติให้กัลฟ์ได้รับค่าชดเชยด้วยการได้ค่าขายไฟเพิ่มขึ้นอีก โดยปล่อยผู้บริโภครับภาระการขึ้นค่าไฟฟ้านั้นเอง

ในปี 2551 กัลฟ์ได้สร้างโรงไฟฟ้าพระนครศรีอยุธยา ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ในปี 2552-2554 กัลฟ์ได้รับการสนับสนุนจาก สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้สร้างโรงไฟฟ้าแบบ SPP มีกำลังการผลิต 2,450 เมกะวัตต์

ต่อมาในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลได้ออกนโยบายประมูลรับซื้อโรงไฟฟ้าจาก SPP แบบเร่งด่วน สารัชถ์ รัตนาวะดี รู้ข้อมูลเบื้องลึกนี้ก่อนผู้อื่นจึงสามารถประมูลโรงไฟฟ้าไปได้ทั้งหมด 28 โรง โรงละ 90 เมกะวัตต์

ครั้นถึงปี 2555-2556 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกนโยบายเร่งรัดจัดการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 โรง มีกำลังผลิตขนาด 2,500 เมกะวัตต์ โดยจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในภาคตะวันออกเท่านั้น สารัชถ์ รัตนาวะดี มีความสนิทสนมกับนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในพรรคเพื่อไทย และสามารถต่อสายถึง ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างง่ายดาย นอกจากจะประมูลได้โรงไฟฟ้าทั้งสองโรงแล้ว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ.ในเวลานั้นยังเปิดทางสะดวกให้แก่กัลฟ์ ด้วยการให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนสร้างระบบสายส่งมูลค่า 7,500 ล้านบาทเอง โดยผลักภาระค่าก่อสร้างสายส่งให้แก่ผู้บริโภค ไม่ได้ไปหักในค่าขายไฟฟ้าของผู้ที่ประมูลได้แม้แต่น้อย

ภายหลังการยึดอำนาจของคณะ คสช.ในปี 2557 ไม่รู้ว่าคณะปฏิวัติไปได้รับรู้อะไรมาจึงมีคำสั่ง คสช. เรียก สารัชถ์ รัตนาวะดี ไปรายงานตัว และโดยคำสั่ง คสช. กระทรวงพลังงานจึงเข้าสอบสวนเรื่องโรงไฟฟ้า 2 โรงของกัลฟ์ที่ภาคตะวันออก ทั้งยังมีความประสงค์จะยกเลิกโรงไฟฟ้า 1 โรง จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ อีกด้วย ทำให้ สารัชถ์ รัตนาวะดี อยู่ไม่เป็นสุข นอกจากจะขอความช่วยเหลือผ่านไปทาง พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว เสี่ยกลางยังวิ่งไปขอความช่วยเหลือจาก ทักษิณ ชินวัตร ด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่มีต่อกัน ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่รอช้า ได้ขอให้ผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท คิง เพาเวอร์ ผู้ทรงอิทธิพล นำ สารัชถ์ รัตนาวะดี ไปกราบคารวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากนั้น รมว.พลังงาน ผู้ตงฉินที่มาจากทหาร ซึ่งได้รับคำสั่งให้สอบสวนเรื่องโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ที่ภาคตะวันออก ก็ถูกเด้งจากกระทรวงพลังงานให้ไปอยู่กระทรวงอื่น แล้วกระทรวงพลังงานก็ได้รัฐมนตรีหน้าใหม่ที่ว่ากันว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกัลฟ์มานั่งแทน

เมื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีภารกิจจะต้องไปเยือนสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีผู้ใดแปลกใจที่ในคณะผู้ติดตามนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนักธุรกิจได้ปรากฏชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี ติดสอยห้อยตามไปอย่างใกล้ชิด จากนั้นไม่นานก็มีข่าวซุบซิบในวงการใกล้ชิดคณะ คสช.ว่าบัดนี้ สารัชถ์ รัตนาวะดี คือมันสมองคนสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

\"สารัชถ์ รัตนาวะดี\" คุณคือใคร?

เมื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี นำ บริษัท กัลฟ์ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีผู้คนเป็นจำนวนมากในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ วงการข้าราชการ นักธุรกิจ ตุลาการ ทหาร และการเมือง ได้รับการเสนอให้ซื้อหุ้นในราคาไอพีโอ 45 บาท จากกัลฟ์เพื่อไปเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯ กันเอาเอง ซึ่งในแง่ธุรกิจอาจจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการขายหุ้นไอพีโอไม่ใช่เป็นการให้เปล่า หรืออยู่ในข่ายการติดสินบนแต่ประการใด แต่ก็เป็นการสร้างอิทธิพลบารมีให้กับเจ้าของหุ้นได้เป็นอย่างดี ทำให้ สารัชถ์ รัตนาวะดี กลายเป็นนักธุรกิจการเมืองผู้มากบารมีในทุกวงการอย่างยากที่ใครจะมาทาบได้

เพราะความเชื่อมั่นในอิทธิพลบารมีที่กว้างใหญ่ไพศาลของตนเองหรืออย่างไรไม่ทราบได้ หลังจาก บริษัท กัลฟ์ ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว อยู่ๆ วันดีคืนดี สารัชถ์ รัตนาวะดี ก็กล้าหาญชาญชัยส่งเรื่องเข้าสู่ กกพ. เพื่อขออนุญาตเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG รายใหม่แข่งกับ ปตท. ทั้งๆ ที่สัญญาการสร้างโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ส่วนใหญ่ที่ระบุใน TOR คือให้ซื้อก๊าซจาก ปตท.เท่านั้น

ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากที่ กกพ. ซึ่งคณะ คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งมากับมือไม่ออกใบอนุญาตผู้นำเข้าก๊าซ LNG รายใหม่ให้กับกัลฟ์แล้ว คสช.ก็ออกคำสั่งโละ กกพ.ชุดที่ตนเองตั้งมานั้นออกไปหมด แล้วตั้ง กกพ.ชุดใหม่ที่รู้กันทั่ววงการว่า เป็น กกพ.ชุดที่มองตาก็รู้ใจของ สารัชถ์ รัตนาวะดี แทบทั้งสิ้น

แล้วก็ปรากฏว่าผลงานชิ้นแรกของ กกพ.ชุดใหม่ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลรักษาผลประโยชน์ให้แก่กิจการไฟฟ้าของชาติ ก็คือการไม่อนุมัติให้ บริษัท จีพีเอสซี บริษัทในเครือ ปตท. เข้าซื้อ บริษัท โกลว์ พลังงาน เมื่อบริษัท จีพีเอสซี ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกพ.ชุดใหม่นี้ก็ยกอุทธรณ์ของจีพีเอสซี โดยอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากเป็นการลดการแข่งขันตามนัยของมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานฯ และข้อ 8 ของระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการ อันก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552

หลังจากที่ กกพ.มีมติยกอุทธรณ์ของบริษัท จีพีเอสซี แล้ว ก็แว่วข่าวว่า บริษัท กัลฟ์ โดย สารัชถ์ รัตนาวะดี เตรียมย่องจะเข้าไปเจรจาขอซื้อ บริษัท โกลว์ แทน จีพีเอสซี ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปว่า หากกัลฟ์สามารถเข้าไปซื้อโกลว์ได้สำเร็จ กัลฟ์ก็จะเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตสูงสุดในประเทศไทย แล้ว กกพ.ชุดใหม่จะตีความการเข้าไปซื้อโกลว์ของกัลฟ์ว่าอย่างไร จะมีสำนึกสาธารณะรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวม ด้วยการใช้กฎหมายห้ามการผูกขาดกับกัลฟ์เหมือนกับที่ กกพ.ใช้อ้างกับบริษัท จีพีเอสซี หรือไม่

แต่ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ก็คือ โครงการประมูลถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่รัฐบาล คสช.อ้างว่าจะจัดสร้างขึ้นเพื่อรองรับความเจริญเติบโตของ AEC นั้น ปรากฏว่ามีเงื่อนไขให้ต้องสร้าง LNG Terminal โผล่เข้ามาใน TOR ของ กนอ.ด้วย ทั้งๆ ในตอนที่ กนอ.นำโครงการท่าเรือน้ำลึกเฟส 3 ออกมารับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ กนอ.ก็ไม่ได้ใส่โครงการนี้เข้ามาด้วย และกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่โดยตรงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในแผนและนโยบายการพลังงานของชาติก็ไม่ได้มีแผนหรือรับรู้ที่จะให้มีการสร้าง LNG Terminal ในท่าเรือน้ำลึกเฟส 3 ของ กนอ.แต่อย่างใด

แล้วใครสั่งให้เอา LNG Terminal เข้ามาไว้ในโครงการนี้ เป็นการทำเพื่อให้เข้าทางคนที่อยากนำเข้า LNG โดยตรงหรือไม่

แล้วทำไม สารัชถ์ รัตนาวะดี จึงออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีความสนใจที่จะเข้าไปยื่นซองประมูลท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเฟส 3 ของ กนอ. ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าแต่ประการใด

งานนี้ใครเป็นคนเตะหมูเข้าปากหมา หรือว่าประเทศไทยวันนี้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของนักธุรกิจการเมืองที่ชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี ไปเสียแล้ว