posttoday

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่‘พิรุณ 4’ ‘ปลอดกลูเตน’สู่เมนูขนมเลิศรส

30 ธันวาคม 2561

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก

โดย อาทิตย์ ลมูลปลั่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน พบว่าในปี 2561 มีมูลค่ารวม 7.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 3.2%

โดยในปี 2561 มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจดาวเด่นที่ทำเงินให้เกษตรกรได้ดีมาตลอดปี มีราคาเพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน ขณะที่ “ข้าว” แนวโน้มสดใส ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7% ส่วน “ยางพารา-อ้อย-ปาล์ม” แนวโน้มราคาปี 2561 นั้นไม่ดีนัก

มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ ยอด ใบ จนถึงราก (หัวมัน) เพื่อการบริโภคเป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ รวมถึงใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยใช้ส่วนหัวนำมาต้ม นึ่ง ย่าง อบ เชื่อม เป็นอาหารชนิดต่างๆ หากใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งที่เป็นหัวสด กากที่เหลือจากการทำแป้ง เปลือกของหัวใบสด ตากแห้งป่นผสมเป็นอาหารสัตว์

นอกจากนั้นแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน

มันสำปะหลัง พืชหลากอุตสาหกรรม

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่‘พิรุณ 4’ ‘ปลอดกลูเตน’สู่เมนูขนมเลิศรส

มันสำปะหลังยังมีประโยชน์กับหลากหลายอุตสาหกรรมที่เราอาจคิดไม่ถึง ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ใช้เพื่อผลิตเป็นมันสำปะหลังเส้น (Cassava Chips/Shredded) มันสำปะหลังอัดเม็ด (Cassava Pellets) แป้งมันสำปะหลัง (Cassava Flour/Tapioca Flour) และจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งแปรรูป (Modified Starch) ชนิดต่างๆ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น สาคู ตลอดจนใช้แป้งมันช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการผลิตซอสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศและอาหารกระป๋องต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรส รวมถึงการผลิตไลซีน และสารให้ความหวานต่างๆ

อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร เช่น อุตสาหกรรมทำกาว อุตสาหกรรมกระดาษ โดยใช้เป็นตัวฉาบผิวด้วยกาวจากแป้งทำให้กระดาษเรียบ คงรูปร่าง ช่วยทำให้กระดาษไม่ซึมหมึกพิมพ์สี อุตสาหกรรมซักรีด อุตสาหกรรมยาสีฟัน และเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และสารดูดน้ำในการผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เป็นต้น

อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น

วิจัยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มรายได้เกษตรกร

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่‘พิรุณ 4’ ‘ปลอดกลูเตน’สู่เมนูขนมเลิศรส

ล่าสุด สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หน่วยงานภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีผลผลิตสูง สามารถต้านทานต่อโรค แมลง และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ “บิวเวอเรีย” ควบคุมและกำจัดเพลี้ยแป้ง การขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนา ที่ดิน เช่น การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการให้น้ำอย่างเหมาะสม ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตจาก 3-4 ตัน/ไร่ เป็น 5-6 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ในปี 2561 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 9.34 ล้านบาท

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. เปิดเผยว่ามันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 4 พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร (ดร.โอภาษ บุญเส็ง) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล (รศ.ดร.กนกพร ไตรวิทยากร และคณะ) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. พัฒนาจากลูกผสมมันสำปะหลังรุ่นที่ 1 ระหว่างพันธุ์ห้วยบง 60 กับพันธุ์ห้านาที

จุดเด่นของมันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 4 คือให้ผลผลิตหัวสดสูงกว่าพันธุ์ห้านาที เมื่อปลูกในสภาพไร่แบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ปริมาณไซยาไนด์ในหัวสดต่ำในทุกสภาพแวดล้อม สามารถรับประทานได้ เหมาะสำหรับทำแป้งฟลาวที่ปราศจากสารกลูเตน (เหมาะกับผู้ที่แพ้แป้งสาลี) ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ นอกจากนี้เมื่อนำหัวมันไปนึ่งหรือเชื่อม จะให้เนื้อสัมผัสนุ่มกว่ามันสำปะหลังพันธุ์ห้านาที เนื้อมีสีขาว ไร้เสี้ยน และรสชาติอร่อย

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่‘พิรุณ 4’ ‘ปลอดกลูเตน’สู่เมนูขนมเลิศรส

ทั้งนี้ สท.ได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 4 กับกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ทั้งสองกลุ่ม ได้ยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น มันแผ่นอบกรอบ (มันชิพ) บราวนี่ บราวนี่อบกรอบ มันบอล เป็นต้น ซึ่งเนื้อสัมผัสและรสชาติถือว่าเลิศรสอร่อยล้ำ เมื่อทำเป็นเมนูขนมต่างๆ สามารถชูวัตถุดิบหลักจากมันสำปะหลังได้อย่างชัดเจนและลงตัว เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ผู้อำนวยการ สท.กล่าวเพิ่มเติมว่า สท./สวทช.ได้ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกมันสำปะหลังให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกรวมกว่า 3,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ลำปาง และนครสวรรค์ ทั้งนี้การส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังมีความก้าวหน้าและเกิดประโยชน์อย่างมากกับกลุ่มเกษตรกร ทำให้เกิดเครือข่ายเกษตรกรใหม่ 3 เครือข่าย พื้นที่ปลูกรวม 1,127 ไร่ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เขาพระนอน ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังเข้มแข็ง หมู่บ้านนาเยีย ต.นาเยีย อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี และกลุ่มฟื้นฟูดินเพื่อการเกษตรบ้านน้ำทรัพย์ ต.หนองปรือ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

นอกจากนี้ ยังเกิดเครือข่ายกลุ่มต้นแบบแปรรูปมันสำปะหลัง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสุธาสินี ต.หนองกระโดน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลัง สภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ขณะที่กลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เดิม 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายอ่างหินพัฒนา ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เครือข่ายกำแพงเพชรโมเดล ต.วังชะพลู และปางมะค่า อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และเครือข่ายบ้านโคกสูง ต.หนองเม็ก อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง จาก 48 ราย เป็น 81 รายในปัจจุบัน

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่‘พิรุณ 4’ ‘ปลอดกลูเตน’สู่เมนูขนมเลิศรส

อย่างไรก็ตาม สวทช.ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ มุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่หลากหลายและขยายผลสำเร็จสู่กลุ่มเกษตรกรของประเทศ ขณะเดียวกันส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เป็นการสร้างความเข้มแข็งทั้งกับกลุ่มเกษตรกรและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ตลอดจนสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยต่อไป