posttoday

ประธานอาเซียน 2562 มุมมองของนักศึกษาไทย (จบ)

20 มกราคม 2562

สิ่งหนึ่งที่เป็นความท้าทายของอาเซียนก็คือการสร้างสังคมอาเซียน

โดย -ฉัตรธิดา ผัดวิเศษ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ -กิตติธัช ชัยชนะ นักศึกษาคณะดิจิทัลและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

สิ่งหนึ่งที่เป็นความท้าทายของอาเซียนก็คือการสร้างสังคมอาเซียนที่มีความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะปัจจุบันประชาชนในภูมิภาคอาจจะยังมีความรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองของอาเซียนไม่มากพอ ที่จะสร้างสังคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น การที่อาเซียนมีเป้าหมายในการที่จะสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการเชื่อมโยงกันทั้งทางด้านกายภาพและทางจิตวิญญาณ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับอนาคตของอาเซียน

อาเซียนมีวิธีการในการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว โดยใช้การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการสร้างประชาคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน การให้ความรู้ในเรื่องอาเซียนผ่านสถาบันการศึกษา หน่วยงานด้านนโยบายต่างๆ การจัดประชุม สัมมนา อบรม เพื่อแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและบทบาทของอาเซียนแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

การจัดโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน เพื่อให้สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมกับอาเซียนได้ เช่น การติดตามข้อมูลข่าวสารการประชุม ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียน การเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานสัมมนาต่างๆ ที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และรับทราบพัฒนาการของประชาคมอาเซียนในทุกมิติ

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ประเทศไทยที่รับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งในฐานะประธานไทยมีหน้าที่และความท้าทายที่จะต้องสานต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ได้หารือกันไว้ในปี 2561 เช่น ประเด็นเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความเข้มแข็งและนวัตกรรม (Resilience and Innovation) การจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ใน 26 เมืองของอาเซียน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดตั้งศูนย์ต่างๆ 7 แห่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์การศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันให้อาเซียนมีการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสิ่งที่ไทยกำลังผลักดันและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) นอกจากนี้ไทยต้องสามารถผสานแนวคิดในการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันที่สุด ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เช่น ทะเลจีนใต้ สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี

ประธานอาเซียน 2562 มุมมองของนักศึกษาไทย (จบ)

ดังนั้น ในฐานะเยาวชนและคนไทย การร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีในโอกาสที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 โดยการแสดงออกถึงการต้อนรับ อัธยาศัยไมตรี และสิ่งดีๆ ของไทยต่อสายตาชาวโลกนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนทำได้ เพราะตลอดปีของการเป็นประธานอาเซียนประเทศไทย จะมีแขกคนสำคัญทั้งจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาต่างๆ

รวมทั้งสื่อมวลชนจากต่างประเทศมากมายที่จะเดินทางมาเยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอข่าวสารต่างๆ ของอาเซียนตลอดปี 2562

ไทยควร “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ในช่วงที่เป็นประธานอาเซียน เพราะการเป็นเจ้าภาพถือเป็นความภาคภูมิใจแห่งทศวรรษ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเข้าร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ถือเป็นการเปิดฉากอย่างเป็นทางการของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”

แต่คำถามคือแล้วพวกเราประชาชนธรรมดาๆ จะได้อะไรจากการประชุมระดับโลกในครั้งนี้ล่ะ?

ในการประชุมอาเซียนแต่ละครั้งนอกจากจะเป็นเวทีการพูดคุยของผู้นำทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน การประชุมยังถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ประเทศที่เป็นเจ้าภาพนั้นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการพูดคุยในเรื่องของปัญหาและการพัฒนาต่างๆ แล้ว ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกรวมถึงชาวต่างชาติจากนอกกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้เป็นอย่างดี

เช่น นักข่าวจากสำนักข่าวทั่วโลกรวมไปถึงผู้ติดตาม ผู้คนที่สนใจในการประชุมจะเดินทางมาที่ไทย ที่นอกจากจะมาในเรื่องของการประชุมแล้ว ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศที่จะได้แสดงศักยภาพให้แก่สายตาของชาวโลก

ทั้งนี้ การที่ไทยของเราได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเราให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งที่จะส่งผลโดยตรงอย่างเห็นได้ชัดให้แก่ประชาชนอย่างเราได้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมไปถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกได้เห็น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดอยู่ที่พวกเราทุกคนที่จะร่วมมือร่วมใจในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อต้อนรับผู้แทนที่ร่วมการประชุมในครั้งนี้ รวมทั้งนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการแสดงถึงความงดงามของคนในประเทศ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจและอยากจะเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกในภายหลัง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นกระบวนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวแบบ Sustainable Tourists มากขึ้นเท่ากับประเทศชาติมีรายได้เข้ามามากขึ้น อันจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและทำให้ประชาชนอย่างพวกเรามีรายได้มากขึ้นนั่นเอง

อย่าลืมว่าในรอบ 10 ปีไทยของเราถึงจะได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพหนึ่งครั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงความภาคภูมิใจและการแสดงถึงความเตรียมพร้อมของประเทศชาติ ที่จะเปิดบ้านต้อนรับเหล่าสมาชิกอาเซียนและสากล

หมายความว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสำคัญของประชาชนและทุกคนในประเทศ ที่จะร่วมมือกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญในระดับสากลต่อไปในอนาคตด้วย