posttoday

เดินรับลมหนาวงานเทศกาลโคมไฟ

24 กุมภาพันธ์ 2562

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (19 ก.พ. 2562) ถือเป็นอีกวันที่สำคัญมากหลังจากเพิ่งผ่านพ้นตรุษจีนไป

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (19 ก.พ. 2562) ถือเป็นอีกวันที่สำคัญมากหลังจากเพิ่งผ่านพ้นตรุษจีนไป นั่นคือวันเทศกาลโคมไฟ (元宵节 หยวนเซียวเจี๋ย หรือมีอีกชื่อว่า 上元节 ซ่างหยวนเจี๋ย) เทศกาลโคมไฟตรงกับวันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกหลังผ่านพ้นปีใหม่จีนหรือตรุษจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน-ปีใหม่ของจีน ในเทศกาลนี้ที่จีนจะนิยมออกจากบ้านไปชมโคมไฟที่ประดับประดาอย่างสวยงามเพื่อเฉลิมฉลองส่งท้ายตรุษจีนและกินบัวลอยกันในครอบครัว โดยคนจีนมีความเชื่อว่าบัวลอยเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่ง คือสื่อถึงการรวมกันของคนในครอบครัวนั่นเอง

นอกจากวันเทศกาลโคมไฟจะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกหลังจากเข้าสู่ปีใหม่ ยังเป็นวันถือกำเนิดของเทพเจ้าแห่งฟ้าเทพเจ้าที่บันดาลพร ความมั่งมีศรีสุขให้แก่มวลมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า จึงมีการบูชาขอพรจากเทพเจ้าแห่งฟ้าในวันนี้ โดยในบางพื้นที่จะมีการลอยโคมสู่ฟ้าเช่นกัน

“ถังหูลู่” Snack ขึ้นชื่อ เคียงคู่งานเทศกาลโคมไฟ

เมื่อพูดถึงเทศกาลโคมไฟ ภาพที่ผุดขึ้นมาในห้วงความทรงจำของผู้เขียน คือ งานเทศกาลโคมไฟอันครึกครื้นตามศาลเจ้าหรือสถานที่สำคัญของเมืองต่างๆ อย่างเช่นบริเวณกำแพงเมืองซีอาน เมืองที่ผู้เขียนเคยอาศัยกว่า 4 ปี บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยแสงสีจากโคมไฟรูปแบบต่างๆ พร้อมด้วยภาพของร้านค้าไม่ว่าจะสินค้าพื้นเมืองและของกิน โดยหนึ่งในของกินที่อยู่คู่คนจีนและเทศกาลโคมไฟมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ คือ “ถังหูลู่” Snack ยอดฮิตของคนจีนยามหนาว

สาเหตุที่เรียกว่า 糖葫芦 มาจากลักษณะของของกินชนิดนี้ ที่นำผลไม้ชนิดต่างๆ มาเคลือบน้ำตาลหวานๆ แล้วเสียบบนไม้ยาวๆ อารมณ์ประมาณไม้เสียบลูกชิ้นแต่ยาวกว่า ผลไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาเคลือบ ได้แก่ พุทราจีน, สตรอเบอร์รี่, แอปเปิ้ล สำหรับผู้เขียน ชอบสตรอเบอร์รี่มากที่สุด เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าอร่อยกว่าพุทราจีน ผลไม้เบสิกสำหรับถังหูลู่

โดย 糖葫芦 คำนี้มาจากการรวมกันของ 糖 (ถัง-น้ำตาล) + 葫芦 (หูลู่-น้ำเต้า) ซึ่งรวมกันหมายถึง น้ำเต้าเคลือบน้ำตาล ความจริงแล้ว ไม่ได้มีการเอาน้ำเต้ามาเคลือบน้ำตาลแต่อย่างใด แต่ในสมัยก่อนเวลาทำถังหูลู่ เขาจะเสียบผลไม้แค่ประมาณ 2 ลูก ลูกเล็กอยู่บน ลูกใหญ่อยู่ล่าง จึงมีลักษณะเหมือนน้ำเต้า เขาถึงเรียกแบบนี้

ถังหูลู่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดานะ เพราะถังหูลู่นี้เป็นสิ่งที่ทำให้พระสนมที่เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิกวงจง ราชวงศ์ซ่ง หายป่วยมาแล้ว ครั้งนั้นหมอจากนอกวัง ได้บอกให้วังหลวงนำพุทรามาเคี่ยวกับเชื่อมและให้พระสนมทาน เนื่องจากพุทรามีสรรพคุณมากมายในการรักษาโรคทางการย่อยอาหาร หลังจากนั้นประชาชนทั่วไปจึงมีการทำถังหูลู่เพื่อเป็นของกินเล่นกันทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญของเทศกาลโคมไฟยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากแต่ยังมีความสำคัญในประเด็น “เทศกาลโคมไฟกับความรักของสาวจีนในสมัยโบราณ”

ในสังคมจีนสมัยโบราณ ผู้หญิงสมัยโบราณจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน แต่ถ้าถึงเทศกาลโคมไฟ จะเป็นโอกาสพิเศษที่หาได้ไม่มากนัก ที่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน ดังนั้นโอกาสนี้อาจเป็นโอกาสอันดีที่หญิงสาวจะได้เจอกับชายหนุ่ม บรรดาแม่สื่อทั้งหลายจึงทำหน้าที่กันอย่างหนักเพื่อให้หนุ่มสาวสมหวัง

นักคติชนวิทยาจีน กล่าวว่า เทศกาลโคมไฟจะถือว่าเป็นวันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวันแห่งคู่รักก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่หญิงสาวจะมีโอกาสพบปะกับเพศตรงข้ามอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จนคนจีนบางพื้นที่ถือว่าวันเทศกาลโคมไฟ เป็นวันแห่งความรักเลยด้วย เช่นในฮ่องกง เป็นต้น

มีเทศกาลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลโคมไฟ元宵节(上元节) หรือไม่?

อย่างที่ผู้เขียนเล่าไปแล้วว่า วันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันถือกำเนิดของเทพเจ้าแห่งฟ้า เทพเจ้าที่บันดาลพรความมั่งมีศรีสุขให้แก่มวลมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า จึงมีการบูชาขอพรจากเทพเจ้าแห่งฟ้าในวันนี้ ซึ่งเรียกว่า 上元节 หรือที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อ 元宵节 เทศกาลโคมไฟของจีน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน-ปีใหม่ของจีน โดยในบางพื้นที่จะมีการลอยโคมสู่ฟ้าเช่นกัน

สำหรับเทพเจ้าอีก 1 องค์ คือ เทพเจ้าแห่งปฐพี เทพเจ้าที่มีหน้าที่อภัยโทษและปกปักรักษาโลกมนุษย์ ตามคติความเชื่อของลัทธิเต๋า เทพเจ้าแห่งปฐพี ถือกำเนิดในวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน และเมื่อครบรอบวันถือกำเนิด เทพเจ้าแห่งปฐพีจะอภัยโทษ อนุญาตให้วิญญาณกลับสู่โลกมนุษย์เพื่อรับบุญกุศล จึงเป็นที่มาของ 中元节 เทศกาลสารทจีน โดยคนจีนรวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนจะไหว้วิญญาณบรรพบุรุษในวันนี้ และในบางพื้นที่ในจีนจะมีการลอยโคมสู่ฟ้าและลอยประทีบในสายน้ำ เพื่อนำทางดวงวิญญาณให้กลับไปสู่ในที่ที่จากมาไม่ให้หลงทาง

และวันบูชาเทพเจ้าองค์สุดท้าย คือ เซี่ยหยวนเจี๋ย 下元节 ตรงกับ วันที่ 15 เดือน 10 (วันเพ็ญ) ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนจีน ตามคติความเชื่อในลัทธิเต๋า เรียกว่า เทศกาลเซี่ยหยวน(下元节) เป็นวันบูชาและขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ 1 ใน 3 เทพเจ้าที่สำคัญในลัทธิเต๋า ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าสามพี่น้อง โดยเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ถือเป็นเทพเจ้าน้องเล็ก

เทศกาลเซี่ยหยวนเป็นเทศกาลที่คนจีนให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ปัจจุบันเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา แต่ยังคงมีคนจีนบางส่วนที่ยังคงให้ความสำคัญกับวันนี้ โดยจะไปที่ศาลประจำเมือง (God Temple) หรือวัดในลัทธิเต๋า เพื่อบูชาและไหว้เทพเจ้าแห่งสายน้ำ

รวมถึงเผากระดาษเงินกระดาษทองและนำสิ่งของใส่ถุงสีแดงเพื่อเป็นการขอพรจากเทพเจ้า โดยจะเขียนชื่อของตนเองไว้บนถุงสีแดง เพื่อให้เทพเจ้าบันดาลพรไม่ผิดคน ซึ่งนักบวชในลัทธิเต๋าจะนำถุงสีแดงเหล่านี้ไปประกอบพิธีกรรม อย่างเช่น ที่วัดลัทธิเต๋าในเมืองเซี่ยงไฮ้ ผู้คนยังคงไปร่วมพิธีกรรมในเทศกาลเซี่ยหยวน

สำหรับในวันนี้ในบางพื้นที่ของจีน คนจีนจะลอยโคมสู่ท้องฟ้า และลอยประทีปในน้ำ ตามคติความเชื่อที่คล้ายคลึงกับคนไทย คือ ลอยสิ่งไม่ดีออกไปจากตัวเรา และขอพรจากเทพเจ้า รวมถึงปล่อยปลาปล่อยเต่าลงแม่น้ำเพื่อบุญกุศล คล้ายกับความเชื่อของคนไทยเช่นกัน