ใครไม่ตบเราตบ!!!เอสเอ็มอีสุดครีเอทจับงานวิจัยเอามาใส่ใน‘ผักตบชวา’เพื่มมูลค่าเส้นใยผ้าสู่สินค้าไลฟ์สไตล์
บริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด อีกหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจตัวเล็ก ที่มองเห็นประโยชน์ ‘ผักตบชวา’ ที่มีคุณค่าและเป็นมากกว่าวัชพืชปกคลุมแม่น้ำ ลำคลอง พร้อมต่อยอดสู่การทำธุรกิจแนวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากการนำเอางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใส่ในผักตบชวา เพื่อแปรรูปจนไ
บริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด อีกหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจตัวเล็ก ที่มองเห็นประโยชน์ ‘ผักตบชวา’ ที่มีคุณค่าและเป็นมากกว่าวัชพืชปกคลุมแม่น้ำ ลำคลอง พร้อมต่อยอดสู่การทำธุรกิจแนวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากการนำเอางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใส่ในผักตบชวา เพื่อแปรรูปจนได้เป็นเส้นใยผักตบชวา ที่มีคุณสมบัติ เบา นุ่ม และเมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าแล้วยังให้สัมผัสความเย็น สบาย ระบายความชื้นได้ดี เมื่อนำมาตัดเย็บเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ได้ทั้งทั้งเสื้อผ้า รองเท้า และ กระเป๋า ฯลฯ
วิลาสินี ชูรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามรุ่งเรือง จำกัด
วิลาสินี ชูรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามรุ่งเรือง จำกัด เล่าไอเดียธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยหลัก ‘ผักตบชวา’ ภายใต้แบรนด์ มุนี (Munie) มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อ20ปีก่อน จากที่ต้องใช้การคมนาคมทางเรือเพื่อไปเรียนหนังสือ และเห็นปัญหาที่เกิดจากผักตบชวา ซ้ำๆทุกปี จึงเกิดแนวคิดอยากลดจำนวนผักตบชวา
จนในปี 2558 บริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผ้าผืนจากสถาบันสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเริ่มนำผักตบชวามาทอ แต่ในขณะนั้น เส้นใยที่ได้เปาะ ขาดง่าย จึงหาทางศึกษา พัฒนาจนได้มาร่วมพัฒนางานวิจัยกับ ผศ.ดร. สาคร ชลสาคร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ในปี2560 และร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่บริษัทได้รับทุนวิจัยจากภาครัฐ ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ในการนำลำต้นผักตบชวามาทำเส้นด้ายและเข้าสู่กระบวนการทอผ้าผืนจน ได้ผ้าน้ำหนักเบา ระบายความชื้นได้ดี ซึ่งเนื้อผ้านี้ได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากสถาบัน Intertek
วิลาสินี เสริมถึงแหล่งวัตถุดิบ ในการผลิตว่าใช้ผักตบชวาที่ลำต้นยาว 50ซม ขึ้นไปเข้าเครื่องตีใย โดยเฉลี่ย ผ้า1เมตรใช้ ลำต้นผักตบชวา 500 ต้น โดยคัดแยกส่วนใบและรากออกนำไปทำปุ๋ยหมักได้ โดยวัตถุดิบผักตบชวาได้จากชาวบ้านในจังหวัดราชบุรี เพื่อนำส่งโรงงานผลิต เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเส้นใยผักตบชวา จากงานวิจัยได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ส่วนแนวทางการทำตลาดสินค้าแบรนด์มุนี จะยังให้ความสำคัญโดยต่อยอดงานวิจัย ให้เกิดการซื้อขายได้จริงในภาคการส่งออก เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ดึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของเหลือทิ้งในภาคการเกษตรมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ทอผ้าเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
ปัจจุบัน สินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์มุนี ทำตลาดควบคู่ทั้งในช่องทางออนไลน์ และ ออฟไลน์ โดยได้รับโอกาสให้นำสินค้าวางจำหน่ายที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามชั้น5 พร้อมร่วมออกบูธงานแสดงสินค้า เพื่อศึกษาข้อมูล Inside Customer อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาออกแบบสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
วิลาสินี ทิ้งท้ายแนวทางธุรกิจในอนาคตมุ่งพัฒนาแบรนด์ Munie ให้เป็นที่รู้จักทั้งภายในและนอกประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปท์ เชื่อมโยงมนุษย์ นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ออกเป็นผลิตภัณฑ์ แฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มองหาซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกอีกด้วย