'ซีเอ็มเอ็มยู' ชำแหละจุดอ่อนสินค้าโอทอปไทย ต้องเข้าใจมุมมองผู้บริโภค
เปิดผลวิจัยชี้ช่องทางทำแบรนด์ไทยให้ปัง พร้อมแข่งขันในตลาดโลก ด้วย 5 รหัสลับ 'ต่อยอด-มาตรฐาน-ความต่าง-จดจำ-บอกต่อ' กุญแจไขความสำเร็จสินค้าไทย
เปิดผลวิจัยชี้ช่องทางทำแบรนด์ไทยให้ปัง พร้อมแข่งขันในตลาดโลก ด้วย 5 รหัสลับ 'ต่อยอด-มาตรฐาน-ความต่าง-จดจำ-บอกต่อ' กุญแจไขความสำเร็จสินค้าไทย
นายบุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดี ด้านการสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดเผยว่าในปัจจุบันสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยหลายแบรนด์เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน ระบุสินค้าในโครงการโอทอป ในปี 2561 มียอดจำหน่ายสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท แต่หากดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่า สินค้าโอทอปที่มีกว่า 20,000 กว่าราย โดยกว่า 40% ของโครงการโอทอปทั้งหมด ยังไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลหรือแข่งขันในตลาดโลกได้
"หากเปรียบเทียบยอดจำหน่ายสินค้าโอทอป กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี2561 จะคิดเป็นเพียง 1.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก หากผลักดันสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยให้ถูกช่องทาง ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยได้อีกหลายเท่าตัว" นายบุญยิ่ง กล่าว
ขณะที่จุดอ่อนสำคัญ ของการสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทย พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากด้านการตลาด โดยเฉพาะสินค้าไม่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่มีความแตกต่าง บรรณจุภัณฑ์ หีบห่อไม่สวยงามและทันสมัย
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินจนเกิดภาวะขาดทุน รวมถึงการขาดช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสินค้า และไม่มีการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้จักแบรนด์และสินค้า
นายรวิพัชร ศรีสถิต หัวหน้าคณะวิจัยฯ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด ซีเอ็มเอ็มยู กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทางคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษา 3 ด้าน จากแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 1,032 ราย เพื่อศึกษาการรับรู้สินค้าและกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าไทยและสินค้าท้องถิ่น การสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่น ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 30 ราย รวมทั้งการศึกษาจากกรณีศึกษาจากเจ้าของผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ในประเทศไทย อีก 20 แบรนด์
ผลการศึกษาในด้านของผู้บริโภค พบว่า เส้นทางการเดินทางของผู้บริโภค (Customer Journey) ของแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ แบรนด์ท้องถิ่น มีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ คือ ความชอบในเอกลักษณ์ของสินค้า การบอกต่อของคนใกล้ชิด ทำให้รู้สึกอยากทดลองซื้อ สินค้าต้องมีคุณภาพ
หากเป็นสินค้าประเภทอาหารต้องอร่อยและสะอาด รวมทั้งเรื่องของบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ ต้องมีความโดดเด่นและแตกต่างเหนือแบรนด์คู่แข่ง ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของแบรนด์ไทย คือ คุณภาพ ถือเป็นหัวใจหลัก ต้องดีจริงตามโฆษณา ราคาต้องมีความเหมาะสมไม่แพงกว่าแบรนด์ต่างประเทศ
นอกจากนี้จะแบรนด์ต้องมีการสื่อสารไปยังผู้บริโภค มีการรีวิวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสินค้าจะเอกลักษณ์ในเรื่องบรรจุภัณฑ์และการทำแบรนด์จะต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร มีความทันสมัยและน่าเชื่อถือ จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าไทยนั้น ไม่ได้ต้องการเลือกซื้อสินค้าไทยเพราะสะท้อนถึงความเป็นไทย แต่มุ่งเน้นที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลัก
ซึ่งสอดคล้องกับผลของการสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทย คือ คุณภาพของสินค้าเป็นหลักเช่นกัน
นายรวิพัชร กล่าวเสริมว่า จากการเก็บข้อมูลการศึกษาวิจัยจากกรณีตัวอย่างของแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จกว่า 20 แบรนด์ สามารถถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย Decoding the success : Thai Local Brand เพื่อนับมาแก้ไขปัญหาของแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยเผชิญอยู่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย 5 รหัสลับคือ
1.มองหาภูมิปัญญาในการต่อยอด (Roots of wisdom) มองหาโอกาสและภูมิปัญญาต่อยอด พัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ของสังคมไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาด
2.คุณภาพไทยมาตรฐานโลก (Product Quality) ในปัจจุบันมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง เรื่องของคุณภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้ผลิตต้องใส่ใจในกระบวนการและวางมาตราฐานของสินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
3.โดดเด่นด้วยความแตกต่าง (Product Differentiation) การสร้างสรรค์สินค้าให้มีความแตกต่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใส่นวัตกรรม การใส่แนวคิดและความคิดสร้างสรรคต่างๆเข้าไปในสินค้า ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากท้องตลอด
4.สร้างเรื่องให้จดจำ (Brand Storytelling) การที่แบรนด์สร้างเรื่องเล่าถือเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการตกแต่งร้าน บรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น การจดจำ และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค
5.พลังแห่งการบอกต่อ (Advocacy) ถือเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องการและต้องทำให้ได้ คือ เมื่อแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ผ่านการสื่อสารครบทั้ง 4 เรื่องที่ผ่านมา แบรนด์ที่มีเรื่องราวโดนใจผู้บริโภค ผู้บริโภคจะทำหน้าที่บอกต่อเรื่องราวดี ๆ ของแบรนด์ให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อกันไปในวงกว้าง ซึ่งบางทีสามารถช่วยให้จากแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก สามารถเป็นที่รู้จักจนขยายเป็นวงการในระดับประเทศได้