posttoday

หุ้น"BAM"ใจถึงจ่ายปันผลไม่เกิน40%

04 ตุลาคม 2562

"BAM" รอเข้าตลาดหุ้น โชว์นักลงทุนจ่ายปันผลให้ถึง 40% ใจใหญ่เคยจ่ายถึงเกือบ 100%

"BAM" รอเข้าตลาดหุ้น โชว์นักลงทุนจ่ายปันผลให้ถึง 40% ใจใหญ่เคยจ่ายถึงเกือบ 100%

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลัง ก.ล.ต. เห็นชอบ

สำหรับหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน ไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

ภายหลังการเสนอหุ้นครั้งนี้ (กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯทั้งหมด) โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือ ชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“การเข้าจดทะเบียนใน ตลท. จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น และ BAM จะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นางทองอุไร กล่าว

นางทองอุไร กล่าวว่า หุ้น BAM เป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ สำหรับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จ่ายปันผลมากกว่า 40% โดยในปี 2559 จ่ายปันผล 80.79% ปี 2560 จ่ายปันผล 97.77% และปี 2561 จ่ายปันผล 60% และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจของบริษัท และภายหลังการจัดสรรสำรองตามกฎหมาย

นางทองอุไร กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง และปัจจัยที่สำคัญ คือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทสามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์เพื่อเติบโตในอนาคตและเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPL และ NPA อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น โดย BAM จะให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร โดย BAM เชื่อว่า พนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน

สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา BAM มีกำไรสุทธิรวม 5,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.58% จากปีก่อน ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562 บริษัทได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้ว 90,562 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้ 122,931 ล้านบาท

นอกจากน้ี ในปีที่ผ่านมา BAM ยังมีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวม 16,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 13,515 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.59% และ ณ วันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ 74,482 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 187,875 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขาย 21,731 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 50,287 ล้านบาท

นางทองอุไร กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้น 99.99% ทั้งนี้ หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ FIDF มีนโยบายถือหุ้น BAM ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% แต่ไม่ต่ำกว่า 45%