การจ้างงานหลังโควิด-19
คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ
ก่อนอื่นเข้าเรื่องอยากจะกล่าวถึงกระแสซึ่งเป็นที่สนใจหากไม่พูดจะหาว่าเชยเริ่มจากการฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย
ดูจากข่าวเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอาลัยอาวรณ์ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เจ้ากระทรวงคมนาคมแสดงท่าทีชัดเจนว่าไปไม่รอด
แต่ทางกระทรวงการคลังโดยท่านรัฐมนตรียังดูรีรอแบ่งรับแบ่งสู้โดยโยนให้ครม.เป็นผู้ตัดสินใจ แถมแย้มเป็นนัยว่าการฟื้นฟูไม่จำเป็นจะต้องไปสู่กระบวนการล้มละลายก็ได้
แต่คงต้องคิดให้ดีว่าการที่จะใช้ภาษีของประชาชนเป็นแสนล้านที่จะอุ้มการบินไทยเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่ทราบผู้ตัดสินใจจะต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา
อีกเรื่องเป็นประเด็น “ฮ็อต” เกี่ยวกับการคลายล็อกที่คาดว่าจะเริ่มเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นการเข้าสู่ “Restart New Normal Life” เป็นการเปิดให้ธุรกิจที่อยู่ในข่ายแบบมีเงื่อนไขเพื่อให้คนกว่า 4-5 ล้านคนกลับเข้ามาทำมาหากินไม่ใช่มาแบมือขอสตางค์รัฐบาลหรือแย่งกันรับของบริจาค
ส่วนมาตรการที่จะดูแลป้องกันไม่ให้ไวรัสกลับมารอบ 2 คงต้องทำอย่างเข้มงวดคู่ขนานกันไปรายละเอียดต่างๆ ขอไม่กล่าวถึงเพราะเคยเขียนให้ความเห็นมาอย่างต่อเนื่องหลายฉบับและคงปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนต่างๆ
ก่อนอื่นขอฉายภาพใหญ่ของตลาดแรงงานนอกภาคเกษตรเฉพาะการจ้างงานในภาคเอกชนจำนวนประมาณ 21.78 ล้านคนสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 58 ของแรงงานทั้งหมด
โดยแบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11.5 ล้านคนในจำนวนนี้ประมาณ 1.1 ล้านคนอยู่ระหว่างการรับเงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม สำหรับแรงงานเอกชนนอกระบบประมาณ 10.13 ล้านคน
แต่ตัวเลขที่อยู่ในข่ายได้เงินเยียวยา 5,000 บาทมีถึง16 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินไปแล้ว
จำนวนคนที่เกินผสมโรงมาจากไหนไม่ทราบแต่ไม่เป็นไรเพราะเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 และ “บิ๊กตู่” ใจป้ำจ่ายไม่อั้นอย่างน้อยเงินพวกนี้ก็ไว้ใช้จ่ายและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่ไม่เหลือเครื่องจักรขับเคลื่อน
การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทยดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มสามารถควบคุมได้น่าจะเป็นประเทศอันดับ 2 รองจากจีน
แม้แต่องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศใช้เป็นต้นแบบขณะที่สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ให้ยาหอมจะย้ายฐานการผลิตมาไทย
แต่อย่างที่หมอทวีศิลป์ฯ โฆษกศบค. กล่าวเตือนว่าการ์ดอย่าตกและยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าไทยพ้นการแพร่ระบาดอย่างเด็ดขาด
ซึ่งการปิดพื้นที่ทำมาหากินมาร่วม 2 เดือนทำให้คนตกงานมากมายถึงขั้นไม่มีจะกิน มีการตั้งโรงทานและตู้ปันสุขกันทั่วบ้านทั่วเมืองแสดงว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้หนักมาก
ถึงแม้การคลายล็อกจะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นคู่ขนานกันไป
ที่ต้องเข้าใจหลังการคลายล็อกเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฟส 2 การสตาร์ทติดเครื่องให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิมไม่ใช่ง่ายๆ
เพราะหลายธุรกิจคงล้มหายตายจาก แรงงานจะกลับเข้าทำงานไม่เต็มจำนวนเพราะหลายตำแหน่งงานจะหายไป
สิ่งที่จะตามมาคือสภาวะ “New Normal” ที่ทางราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายว่า “ความปรกติใหม่” หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งขอย่อเหลือ “วิถีใหม่” หรือทับศัพท์ไปเลยน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า
อย่างที่กล่าววิถีใหม่หลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิมที่หวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วๆ คงเป็นไปไม่ได้โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวทั้งรายเล็กรายใหญ่ล้วนไม่เห็นอนาคต
บางโรงแรมต้องนำที่นอนไปขายเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายหลังคลายล็อกด้านนายจ้างจะคัดกรองคนที่จะกลับเข้ามาทำงานตำแหน่งที่ไม่จำเป็นก็จะไม่เก็บไว้
ธุรกิจส่วนใหญ่จะลดขนาดที่เรียกว่า “Business Downsizing” เพราะดีมานด์ของตลาดจะยังไม่กลับมาเหมือนเดิมการใช้คนก็จะใช้น้อยลง แรงงานที่กลับเข้าไปทำงานอาจได้รับค่าจ้างลดลงโอทีไม่ต้องพูดถึงแถมต้องทำงานทดแทนตำแหน่งที่ไม่รับคน
ภูมิทัศน์การจ้างงานจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ตลาดแรงงานจะเป็นของนายจ้างเนื่องจากตำแหน่งงานที่จะจ้างน้อยกว่าคนที่ต้องการทำงาน มนุษย์เงินเดือนหลังยุค COVID-19 จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่
เพราะนอกจากเศรษฐกิจชะลอตัวสถานประกอบการต่างๆ ยังลดขนาดกอปรทั้งทำให้เกิดการเร่งตัวของการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นผลจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา
ผู้คนเคยชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในการโอนเงินและหรือจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์ตลอดจนการสั่งอาหารผ่านไลน์แมน แกร๊บฟู้ด ฯลฯ
รวมถึงการใช้เงินที่เป็นแบงค์หรือเหรียญลดลงเนื่องจากหันไปใช้สแกนคิวอาร์โค้ด แม้แต่ผมที่เป็นคนยุคเก่าที่ผ่านมาไม่เคยใช้ก็ยังเรียนรู้และติดใจที่จะยังใช้ต่อไปพฤติกรรมเหล่านี้จะไปกดดันให้การใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง
ภาพที่เห็นจากนี้ไป คือ ความท้าทายของแรงงานใหม่ที่พึ่งจบการศึกษาประมาณ 6.342 แสนคนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30 จะจบปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดไม่ต้องการจะหางานยากขึ้น
แม้แต่แรงงานที่กลับเข้าไปทำงานใหม่หรือทำงานอยู่แล้วล้วนมีความเสี่ยงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับพฤติกรรมตลอดจนพัฒนาทักษะให้สามารถตอบโจทย์
แม้แต่อุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจากการพูดคุยกันในช่วงที่ผ่านมาหลายโรงงานปิดชั่วคราวได้ค่าจ้างไม่เต็ม
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบหนัก จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมยานยนต์ระบุว่าเป็นการตกต่ำสุดในรอบ 10 ปีหลายค่ายรถยนต์เริ่มปรับลดพนักงานให้สอดคล้องกับการผลิตที่ลดลงมีการปิดไลน์การผลิตไปตั้งแต่เดือนเมษายน
บางข่ายอาจจะไปเปิดเดือนมิถุนายนกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมในโซ่อุปทาน ในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 มากน้อยต่างกันมีการเลิกจ้างในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะซับคอนแทรคได้รับผลกระทบอย่างหนัก
การดำเนินชีวิตหลังวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสครั้งนี้จะทำให้เกิดวิถีใหม่หรือ “New Normal” รูปแบบการดำเนินชีวิต, การทำธุรกิจ, การจ้างงาน และการทำงานจะแตกต่างไปจากเดิมเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของทุกระดับ
ตั้งแต่สถานประกอบการผู้ใช้แรงงานภาครัฐจะต้องมีการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดลดช่องว่างของการสื่อสารและทักษะสำหรับมนุษย์เงินเดือนหากกลับเข้าทำงานคงไปทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไม่ได้
เพราะจากนี้ไปนายจ้าง จะประเมินความคุ้มค่าที่จะยังจ้างงานหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องเข้าสู่โครงการสมัครใจลาออก คงต้องใช้กรณีศึกษาของการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่มีความมั่นคง พนักงานได้รับเงินสูง สวัสดิการมากๆ ทำงานสบายๆ
แต่กำลังเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูซึ่งยังไม่รู้ว่าครม.จะเคาะรูปแบบไหน...สำหรับคนที่ยังคงตกงานที่ทำได้คงแค่เอาใจช่วย นะครับ