ถึงไทยแล้ว!!! รถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก เปิดใช้จริงปี'65
"บิ๊กตู่" รับมอบรถไฟฟ้าโมโนเรล รองรับสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง แก้จราจรขนคนเข้าเมือง เดินหน้าแจ้งเกิดสายใหม่ต่อเนื่อง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่าง เป็นประธานในพิธีรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยมี ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พร้อมทั้งได้ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสนใจ เร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองโครงการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็น “ทางเลือกใหม่” ในการเดินทางที่สามารถขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากได้ในคราวเดียวกัน มีกำหนดเวลาที่แน่นอน และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ทั้งยังขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟม. จะทุ่มเทในการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ประสบความสำเร็จตามแผนงาน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในหัวเมืองภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
ทางรฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับผู้รับสัมปทาน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ กับผู้รับสัมปทาน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 โดยทั้งสองโครงการได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมราง บนทางวิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ป้อนผู้โดยสารเข้ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลัก
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีแนวเส้นทางพาดผ่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในแนวตะวันตก – ตะวันออก จากถนนติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดบนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร(กม.) มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีแนวเส้นทางพาดในแนวเหนือ – ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จากถนนลาดพร้าว ผ่านถนนศรีนครินทร์ ไปสิ้นสุดบนถนนเทพารักษ์ ระยะทางรวม 30.4 กม. มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานี มีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่สถานีรัชดา เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีพัฒนาการ เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีแยกลำสาลี และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสำโรง โดยมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม
อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าซึ่งจะนำมาวิ่งให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบไร้คนขับ ภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ กล้อง CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิง และที่เปิดประตูฉุกเฉิน ฯลฯ โดยบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จำนวนรวม 42 ขบวน และของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ จำนวนรวม 30 ขบวน มายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนครบจำนวนภายในปี 2564
ขณะเดียวกันบริษัทผู้รับสัมปทานทั้งสองโครงการจะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบเพื่อสร้างความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 โดยในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง