posttoday

ฟื้นเอฟทีเอ ไทย-อียู ดันมูลค่าการค้า หวังขึ้นแท่นเบอร์ 3 อาเซียน

14 มิถุนายน 2564

‘จุรินทร์’ ถกทูตอียู เร่งเอฟทีเอ พร้อมผลักดัน CL วัคซีนโควิด ในเวที WTO ช่วยประเทศด้อยพัฒนาเข้าถึงทางการแพทย์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายปีร์กะ ตาปีโอละ   เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ว่า  ได้หารือวาระสำคัญ ใน 4 ประเด็น คือ 1. ไทยและอียูมีความเห็นร่วมกันว่าองค์การการค้าโลก หรือ WTO ควรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี ในเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก โดยการเร่งรัดให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทในช่วงที่มีการอุทธรณ์ให้ได้โดยเร็ว

2 .การจัดทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู โดยในเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาล เบื้องต้นในระดับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งหารือ เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เพื่อจะใช้เป็นร่างสำหรับนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป โดยอียูคาดหวังว่าไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน ที่จะทำเอฟทีเอกับอียู ต่อจากเวียดนาม และสิงคโปร์

ทั้งนี้หากมีการจัดทำเอฟทีเอและมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์มากในเรื่องของการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของการค้า เพราะสหภาพยุโรปถือว่ามีการค้ากับไทยในปริมาณที่สูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าของไทยกับโลก

3. ไทยและอียูเห็นตรงกันว่าการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือ CL (Compulsory licensing) ในการผลิตวัคซีน 0จะช่วยให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าว ไปหารือในการประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือน พ.ย.นี้ และ 4.ได้เชิญภาคเอกชนในสภาพยุโรปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย ช่วงเดือนก.ค. - ธ.ค. 2564 โดยจับคู่เจรจาธุรกิจ (Online Business Matching : OBM) ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าของกลุ่มประเทศต่างๆ ของสภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลี และสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอียู (27 ประเทศ) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยรองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในปี 2563 มีมูลค่าการค้า 33,133.90 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,032.7 พันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.56 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 17,637.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (545.9 พันล้านบาท) และนำเข้าจากอียู 15,496.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (486.8 พันล้านบาท)

สำหรับ 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. – เม.ย.) การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 12,879.86 ล้านเหรียญสหรัฐ (388.3 พันล้านบาท) ขยายตัว 10.95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 77,291.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (218.4 พันล้านบาท) ขยายตัว 17.98% และนำเข้าจากอียูมูลค่า 5,588.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (169.8 พันล้านบาท) ขยายตัว 2.94%

ส่วนสินค้าส่งออกหลักของไทยไปอียู คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา ไก่แปรรูป และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม