จับตา LNG ส่งสัญญาณขาขึ้นรับลมหนาว
ปตท.ชี้ ไตรมาส4 ราคา LNG เหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เหตุดีมานด์สูงช่วงฤดูหนาว ขณะที่แหล่งผลิต ทั้งยุโรป เอเชีย สหรัฐ ลดการส่งออก
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) หรือ LNG ช่วงไตรมาสที่ 4/64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้สูงขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว
รวมถึงปีนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในยุโรปยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี สร้างความกังวลว่าอุปทานก๊าซธรรมชาติอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยสำนักข่าว Bloomberg คาดการณ์อุปสงค์ LNG ของโลกจะเพิ่มขึ้น จาก 29.7 ล้านตัน ในเดือน ส.ค. 64 มาอยู่ที่ 34.8 ล้านตัน ในเดือน ธ.ค. 64 และ 36.2 ล้านตัน ในเดือน ม.ค. 65 อย่างไรก็ตามเริ่มมีแรงขายจากกลุ่มผู้ใช้หลักในเอเชีย เช่น จีน และ Portfolio Player เช่น BP เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรในระยะสั้น
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas - LNG) ในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 ที่เฉลี่ย 6.4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่เฉลี่ย 16.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในเดือน ส.ค. 64 และล่าสุด ราคาเฉลี่ยวันที่ 1-16 ก.ย. 64 อยู่ที่ 21.3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ส่วนราคารายวัน ล่าสุดวันที่ 16 ก.ย. 64 ทะยานขึ้นแตะ 26.0 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู สูงสุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 64 ซึ่งแตะระดับ 32.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (สูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์หนาวเย็นเฉียบพลัน polar vortex)
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ Title Transfer Facility (TTF) ที่ยุโรปปัจจุบันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ณ วันที่ 15 ก.ย. 64 เนื่องจากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากจากคลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ปกคลุมทั้งในยุโรปและเอเชีย ประกอบกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้นจากการกระจายวัคซีน
นอกจากนี้ปัญหาอุปทานก๊าซธรรมชาติหยุดชะงักจากแหล่งผลิตทั้งในยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ อาทิ นอร์เวย์มีแผนส่งออกก๊าซธรรมชาติลดลงตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนก.ย. 64 จากคาดการณ์การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจะลดลง และแหล่งผลิต Bintulu LNG ในมาเลเซีย (ขีดความสามารถในการส่งออกสูงสุด 30 ล้านตันต่อปี) ของ Petronas บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซียประสบปัญหาการผลิต งดการส่งออกในตลาดจร (spot)
ขณะที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาการผลิตช่วงฤดูเฮอร์ริเคน (เดือน มิ.ย.-พ.ย. ของทุกปี) ส่งผลให้การส่งออก LNG ประสบปัญหาเป็นระยะ ล่าสุดท่า Freeport (ขีดความสามารถในการส่งออกสูงสุด 15.3 ล้านตันต่อปี) ต้องหยุดดำเนินการจากผลกระทบของพายุโซนร้อน Nicholas ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 64
นอกจากนี้ราคาถ่านหิน (ใช้ผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกัน) เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งคาร์บอน เครดิต (ราคาชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ทำให้การใช้ก๊าซธรรมชาติมีความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) เชิงเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้น จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของราคาถ่านหินและคาร์บอน เครดิตควบคู่ไปด้วย เพราะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากท่อ Nord Stream 2 (ขีดความสามารถสูงสุด 55 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) ซึ่งขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนี สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่ชะลอราคามิให้ทะยานสูงขึ้นมากนัก แต่จากสถานการณ์ล่าสุด แม้โครงการก่อสร้างท่อดังกล่าวแล้วเสร็จ แต่กระบวนการขออนุญาตเพื่อเปิดดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4-8 เดือนนับจากนี้
ทั้งนี้นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ อาทิ Platts และ Wood Mackenzie รวมทั้งหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. คาดการณ์ว่าราคา LNG ตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 4/64 จะทรงตัวเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู หากสถานการณ์ตลาดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้