posttoday

น้ำท่วมทำดัชนีความเชื่อมั่นการผลิตSMEภาคใต้ลด

23 ธันวาคม 2553

สสว. เผย ปัญหาน้ำท่วม ทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตเอสเอ็มอีรายภูมิภาค ภาคใต้ลดลง ขณะที่ภาคอีสานกลับค่าดัชนีเพิ่มมากขึ้น

สสว. เผย ปัญหาน้ำท่วม ทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตเอสเอ็มอีรายภูมิภาค ภาคใต้ลดลง ขณะที่ภาคอีสานกลับค่าดัชนีเพิ่มมากขึ้น

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รายภูมิภาคประจำไตรมาส 4 ปี 2553  ว่าภาคใต้มีค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ระดับ จากระดับ 51.56 โดยอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมาก ได้แก่ สาขาเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารกลุ่มน้ำมันพืช มันพืชและไขมันสัตว์ ประกอบกับปริมาณผลผลิตของยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ลดลง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นเวลานาน ส่วนดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้าค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3 จาก 54.1

ภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงจากระดับ 39.8 มาอยู่ระดับ 38.9 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเบา สาขาแร่อโลหะ (ใช้ในการก่อสร้าง) และกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนสินค้า ค่าแรงงาน ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และภาวะเศรษฐกิจในประเทศหดตัว ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้า ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงเช่นกันจาก 49.4 มาอยู่ที่ 46.3

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.0 จาก 40.1  อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ สาขาเหล็กโลหะและผลิตภัณฑ์ พลาสติก และอาหาร (ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช) ซึ่งปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้มาจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ และผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 57.3 จาก 56.4

ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.7 จาก 38.29 อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ขนส่ง พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยสถานการณ์การบริโภคมีสัญญาณฟื้นตัว การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีคาดการณ์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 39.7 จาก 38.7

ทั้งนี้ ในภาพรวมความเชื่อมั่นภาคการผลิตของเอสเอ็มอีแม้ว่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์ของการผลิตยังไม่ดีเท่าที่ควร และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอียังมีการอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอยู่ที่ 47.69% จาก 48.37% ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ยอดคำซื้อที่เข้ามาลดลง ประกอบกับตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังไม่ฟื้นตัว

“ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า แต่ยังมีปัญหาหลักที่สำคัญต่อเอสเอ็มอีภาคการผลิต คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้น” นายภักดิ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเอสเอ็มอีในปีหน้า ได้แก่ การเมือง การเลือกตั้งที่มีความไม่แน่นอน จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น ราคาพลังงาน ดอกเบี้ย ค่าแรง และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การส่งออกของเอสเอ็มอียังไม่ดีเท่าที่ควร โดยธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในประเทศจะมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า