SMART ปรับกลยุทธ์ชูผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในยุคขาดแรงงาน
SMART ปรับกลยุทธ์ชูผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในยุคขาดแรงงาน เน้นทำตลาดผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาระบบการจัดส่งสินค้าให้รวดเร็ว
นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบางานก่อสร้างและงานกั้นผนังอาคาร ภายใต้แบรนด์ SMART กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด- 19 กระทบต่อบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะปัญหาโครงการก่อสร้างถูกเลื่อนและยกเลิก ผลกระทบจากปัญหาขาดแรงงาน ส่งผลให้คำสั่งซื้อและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง อิฐมวลเบาชะลอลง
จากปัญหาดังกล่าว บริษัทปรับแผนและวางกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำตลาดผ่านระบบออนไลน์, พัฒนาระบบการจัดส่งสินค้าให้รวดเร็ว และปรับปรุงกระบวนการผลิต วางแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาการก่อสร้างได้แก่ อิฐมวลเบาเพื่องานโครงสร้างขนาดพิเศษ (Jumbo Block) คุณสมบัติที่แตกต่างจากอิฐมวลเบาขนาดทั่วไป ทำให้จำนวนก้อนที่ใช้ลดลง อิฐมวลเบาขนาดเล็กพิเศษ ( Compack Block ) สำหรับแก้ไขข้อจำกัดในการก่อสร้าง และ คานทับหลังสำเร็จรูป ที่ติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว สามารถประหยัดเวลา ช่วยลดความยุ่งยากของงานก่อผนัง ทำให้งานก่อสร้างเสร็จรวดเร็ว แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และช่วยลดต้นทุน ช่วยสร้างโอกาสเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง
อีกทั้ง อิฐมวลเบา สมาร์ทบล็อค ผ่านมาตรฐานการผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน ด้วยกระบวนการผลิตระบบอบไอน้ำภายใต้ความดันสูง สูตร Cement Base ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จึงทำให้อิฐมวลเบา สมาร์ทบล็อค มีคุณสมบัติในการกันความร้อน ประหยัดพลังงาน กันเสียงรบกวน และรักษาสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง
นอกจากนี้ บริษัทเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาตกแต่งประหยัดพลังงาน เพื่องานตกแต่งภายใน-ภายนอก บ้าน อาคาร โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อรองรับตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อเปิดโครงการใหม่ ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง อิฐมวลเบา อิฐมวลเบาตกแต่งเพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมางานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนจะต้องชะลอตัวไปบ้าง แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ลงทุนก่อสร้างภาครัฐ การสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้ ทั้งด้านสาธารณสุข คมนาคม ชลประทาน ช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา การปรับกลยุทธ์ของบริษัท การเตรียมแผนจัดการบริหารความเสี่ยงให้สอดรับกับสถานการณ์อยู่เสมอเพื่อให้บริษัทสามารถรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ทัน ช่วยพยุงให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติในปัจจุบันและอนาคตไปได้”