posttoday

“DITP” ชี้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีโอกาสส่งออกในเกาหลีใต้

06 มกราคม 2566

DITP แนะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ออร์แกนิก แคลอรี่ต่ำในเกาหลีใต้เติบโตต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยในเกาหลีใต้ หลังผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ถึงผลการสำรวจตลาดเครื่องดื่มของเกาหลีใต้ และเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบ Healthy Pleasure ของผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้

 

โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่าปัจจุบันเทรนด์ Healthy Pleasure ซึ่งหมายถึงความสุขในการดูแลสุขภาพ เป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่รับประทานอาหารตามความชอบเดิม แต่เลือกชนิดที่มีแคลอรี่ต่ำแทน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม หันมาให้ความสำคัญ และผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มไร้แคลอรี่และน้ำตาล เครื่องดื่มเสริมอาหาร และยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

 

สำหรับช่องทางการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น ร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่สัดส่วนยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกในการจัดส่งที่รวดเร็วและสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในจำนวนมาก โดยเครื่องดื่มน้ำอัดลม กาแฟ และน้ำผลไม้ มีสัดส่วนการซื้อแบบออฟไลน์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่งน้ำโซดา ชา นมถั่วเหลือง และธัญพืช มีสัดส่วนการซื้อออนไลน์ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด

 

นายภูสิต กล่าวต่อว่า ทูตพาณิชย์ยังให้ข้อมูลอีกว่าตลาดเครื่องดื่มของเกาหลีใต้ จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วยการปล่อยสินค้าเครื่องดื่มชนิดใหม่ ๆ ออกมา และยอดขายของเครื่องดื่มบรรจุขวดพร้อมดื่มในร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้น และการบริโภคเครื่องดื่ม รวมทั้งน้ำผลไม้และน้ำผักก็เพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มการให้ความสำคัญกับสุขภาพในทุกกลุ่มอายุ โดยเน้นในกลุ่มประชากรที่อายุน้อย

 

ทั้งนี้ จากศักยภาพของอาหารและเครื่องดื่มของไทย ทำให้มีโอกาสที่จะขยายตัวเข้าสู่ตลาดเกาหลีได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มออร์แกนิก เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ เครื่องดื่มรสชาติใหม่ ๆ  ซึ่งในปัจจุบันเครื่องดื่มไทยที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภคเกาหลีใต้แล้ว เช่น Mogu Mogu น้ำผลไม้ และโซดาช้าง เป็นต้น และในการเข้าสู่ตลาด ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมที่จะบรรจุสินค้าในบรรจุภัณฑ์ที่รักสิ่งแวดล้อม สะดวกในการทำลายหรือใช้ซ้ำด้วย