เจาะเบื้องลึก “ไอ้โม่ง” ขวางแผนแบตอีวี
เผยโฉม “ไอ้โม่ง” ดับฝัน แผนหนุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับ 1-8 GWh สำหรับรถอีวี วงเงิน 24,000 ล้านบาท เป็นเหตุให้แผนการดันไทยสู่ฮับอาเซียนด้านการผลิตรถอีวีสะดุดทั้งระบบ
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่ โพสต์ทูเดย์ ได้นำเสนอข่าว “แผนอีวีไทยสะดุดยกแผง ครม.ประยุทธ์เตะถ่วง ” https://www.posttoday.com/business/694253 ซึ่งได้ทิ้งปริศนาถึง “ไอ้โม่ง” คนสำคัญที่ทำให้แผนการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ของประเทศไทย สะดุด ยกแผงนั้น
หลายคนอาจจะทราบดีว่าเป็นใคร เพราะวาระการประชุมของมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 แต่ไม่มีการพิจารณา ทำให้แผนดันแบตอีวี เป็นหมัน
เพราะวันที่ 14 มี.ค.2566 เป็นการประชุมครม.วาระสุดท้าย ก่อนยุบสภา ซึ่งนั่นหมายความว่า หากไม่มีการลงมติในครั้งนั้น ครม.รักษาการจะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณใดๆได้ เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุมัติต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
สำหรับมติบอร์ดอีวี ที่เสนอให้ครม.เคาะแพคเกจสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีฉบับปรับปรุงนั้น เพื่อรองรับรถทุกค่ายในโลกมาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงเสนอให้ยืดเวลาการผลิตรถทดแทนการนำเข้าจาก 2 ปี เป็น 3 ปี โดยค่ายรถกลุ่มเดิมไม่เสียเปรียบ หันมาใช้มาตรการใหม่ได้ พร้อมทั้งซอยประเภทรถที่รับเงินอุดหนุนให้ละเอียดขึ้น
ที่สำคัญ มติการผลักดันการเป็นฐานการผลิตรถอีวี คือ การส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ระดับ 1-8 GWh สำหรับรถอีวี วงเงิน 24,000 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดอีวี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตนำมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไปหารือกับผู้ที่สนใจลงทุนให้เกิดความชัดเจนและนำเสนอมาตรการดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอขอใช้งบประมาณต่อครม.ในโอกาสแรก
ดังนั้นเมื่อมีเอกชนยื่นความจำนงค์ บอร์ดอีวีจึงได้นำเรื่องเสนอครม.ทันที เพื่อให้เคาะงบสนับสนุน 24,000 ล้านบาท อันจะเป็นการสนับสนุนการเดินหน้าสู่ฮับด้านการผลิตรถอีวีแบบครบวงจร
แต่แล้วแผนกลับต้องสะดุด ดับฝันประเทศไทยแบบไม่แคร์ใคร เพราะแม้ว่าวาระการประชุมได้เข้าสู่การประชุมครม.ทันก่อนการยุบสภาก็จริง
แต่พอถึงวาระที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ แหล่งข่าววงในจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เจ้ากระทรวงพลังงานในฐานะประธานบอร์ดอีวี และรองนายกรัฐมนตรี “กลับลุกไปเข้าห้องน้ำ แล้วไม่กลับมาประชุมอีกเลย”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ต่างให้ความสำคัญกับนโยบายการนำไทยสู่การเป็นฮับการผลิตรถอีวีแห่งอาเซียน โดย ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถอีวีวิ่งอยู่ในท้องถนนแล้วกว่า 10,000 คัน และที่จองแล้วรอรับรถอีก 36,000-37,000 คัน
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ เองเคยกล่าวกับสื่อมวลชนยอมรับว่า ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น CATL ,BYD, หรือ SVOLT และตลาดรถอีวีในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งปี 2565 ยอดจดทะเบียนรถอีวีใหม่เพิ่มขึ้น 260%
ขณะนี้ผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายรายกำลังรอมาตรการจากรัฐบาล หากล่าช้าอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและกระทบต่อเป้าหมายการเป็นฮับผลิตรถอีวี แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าว
เห็นได้ชัดว่า เอกชนพร้อมแล้ว แต่รัฐบาลประยุทธ์ กำลังรออะไร โปรดติดตามตอนที่ 3 จากปากคนวงใน เมื่อรัฐบาลประยุทธ์เตะถ่วง ทำให้อุตสาหกรรมเสียหายอย่างไรบ้าง