เอกชน ฝากรัฐบาลใหม่แก้บาทแข็ง-ราคาพลังงาน หวั่นฉุดส่งออกอาหารสะดุด
3องค์กรอุตสาหกรรมอาหาร เผยส่งออกไตรมาสแรกปี 66 โกยรายได้ 3.46 แสนลบ. โต10% อานิสงส์จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวจากโควิด หวั่นปัญหาภัยแล้ง ต้นทุนพลังงานสูง บาทแข็ง-ผันผวน ฉุดแข่งขันลำบาก วอนธปท.-รัฐบาลใหม่ช่วยดูแล
3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2566
โดย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว
กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่ ผลไม้สด โดยการส่งออกน้ำตาลทรายมีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดียได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว การส่งออกข้าวมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2%
เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น การส่งออกไก่มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกผลไม้สดมีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.4% จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหา 2 ด้าน คือ
1 วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด
2 ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการนำเข้าของญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ ลดลง-6% กุ้ง ลดลง20% สับปะรด ลดลง40% เครื่องปรุงรส ลดลง 40% เป็นต้น
แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะหดตัวลงจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเยนอ่อนค่ากรณีตลาดญี่ปุ่น แต่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตลาดรอง หรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าว ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช ขยายตัวในระดับสูง รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
"ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2566 ประเมินว่า การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลง 1.0% และกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท" นางอนงค์กล่าว
ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 66 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1. ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน
2.การขาดแคลนอาหารตลอด ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
3. ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร
ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น
4. ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก
5. จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
1. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น
2. ความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน
3. ความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
4. เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก
5. ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
6. ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น
ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยกังวลว่าจะเป็นตัวแปรที่จะกระทบการส่งออกอาหารในช่วงที่เหลือในปีนี้ ที่อยากฝากการบ้านให้รัฐบาลใหม่ดูแล คือ
1.ภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กำลังจะเข้ามา หากรัฐบาลจัดการไม่ดีจะกระทบสินค้าภาคเกษตร
2.ปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ
3.ที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ การแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านส่งออกของไทยอย่างมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
“อยากฝากรัฐบาลใหม่ และแบงก์ชาติ ให้ดูแลค่าเงินบาท เพราะขณะนี้แข็งค่าและผันผวนมาก จากตัวเลขทางการที่ระบุว่า ขณะนี้เงินบาทเฉลี่ยสวิงไป 2% กว่า แต่ข้อมูลที่แท้จริง หลังหารือกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เพียงสองอาทิตย์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจาก 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากม.ค.66 แข็งค่าไป 5 บาทกว่า หรือแข็งค่าไปกว่า 10% ผู้ประกอบการคนไหนจะคาดคิด ขณะที่ประเทศอื่นค่าเงินอ่อนค่ากว่าเราเยอะ ในทางกลับกันเรายังมีเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เราแข่งขันลำบาก เมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาทเราได้เิงินน้อยกว่าด้วย ดังนั้นค่าเงินบาท คือ ตัวแปรของการส่งออกอาหารไทย” ดร.พจน์ กล่าว
ขณะที่ นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการฝากให้รัฐบาลใหม่ สนับสนุนเรื่องประสิทธิภาพ วัตถุดิบ การหาตลาดใหม่ สนับสนุนภาคการเกษตรและอาหาร ลดภาษีนำเข้าส่งออก หรือเรื่องๆที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ในระดับโลก นอกจากนี้ ฝากให้ รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ดูแลเรื่องพลังงางน เพราะเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เกือบเท่าตัว โดยต้องการให้กกพ.พิจารณาค่าเอฟทีใหม่ ให้อยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง ไม่ต้องบวกเพิ่ม เพราะจะช่วยให้ราคาค่าไฟต่อหน่วยลดลงได้