posttoday

เอกชน วอนหยุดเล่นการเมือง เร่งตั้งรัฐบาลให้จบภายในส.ค.นี้

04 สิงหาคม 2566

เอกชน ประสานเสียง ต้องตั้งรัฐบาลให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ วอนเลิกเล่นการเมือง-แย่งเค้ก ชี้ ประชาชน เศรษฐกิจประเทศ รอไม่ได้แล้ว หลังเลื่อนโหวตนายกฯ ลากยาวรอบที่ 3

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงกรณี ที่ประชุมรัฐสภาประกาศเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ออกไป เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบ 2 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนุญหรือไม่ ว่า สถานการณ์ออกมาเช่นนี้ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชน แทบไม่ทางเลือก เพราะต้องยอมรับกลไกลของรัฐธรรม ที่กำหนดแนวทางไว้แบบนี้ ภาครัฐจะแก้ไขกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดในตอนนี้ คือ ต้องการให้ได้ตัวนายกฯ และมีหน้าตารัฐบาลมาบริหารประเทศภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าสามารถโหวตนายกฯได้ในเดือนสิงหาคมนี้ ก็น่ามีความชัดเจนในการตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากเกินเดือนสิงหาคมไปแล้ว จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ยาวนานเกิน 4 เดือน ภาคเอกชนจึงไม่อยากเลื่อนการโหวตอีกแล้ว ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจตอนนี้แย่อย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่คิด ส่วนที่คาดกันว่า ส่งออกจากที่ติดลบจะกลับมาเป็นศูนย์น่าจะยาก 

 

“ค่อยข้างชัดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ตอนนี้เป็นอยู่ในช่วงการต่อรองตำแหน่ง การเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยมาเป็นนายกฯ ก็ถือว่ามีความโดดเด่น เพราะเป็นนักธุรกิจ จะรู้เรื่องเศรษฐกิจดี มีเป็นคุณสมบัติ ที่ สว.น่าจะโหวตให้ พรรคก้าวไกลซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขก็ถูกตัดออกไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่โหวตให้ ดังนั้น การโหวตนายกฯ ควรชัดเจนได้แล้ว จึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ อย่าเล่นการเมือง อย่ามัวแต่แย่งเค้กกัน ขอให้เห็นแก่ ประชาชน เศรษฐกิจประเทศรอไม่ได้แล้ว  ยิ่งช้า ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ” นายธนิต กล่าว

 

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งโลก ปัญหานี้ภาคเอกชน ยอมรับได้ แต่ปัญหาความไม่ชัดเจนทางการเมือง และยืดเยื้อในขณะนี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า ทราบหรือไม่ปัจจัยการเมือง เป็นอีกปัญหาที่ทำให้ธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องการรอดูความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อทั้งของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 

 

พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นภาระกิจเร่งด่วนแรก โดยเฉพาะเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน ,แก้ปัญหาภัยแล้ง ,รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ,และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 91% ต่อจีดีพี หรือราว 16 ล้านล้านบาท

 

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลื่อนโหวตนายกฯออกไปอีก ย่อมส่งผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน เพราะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลต้องล่าช้าออกไปอีก ทำให้นักลงทุนต้องชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์  เนื่องจากนักลงทุนอยากเห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนต่อไป 

 

“นักลงทุนภาคเอกชน ต้องการเห็นความชัดเจนว่า ใครจะเป็นนายกฯ มีรัฐบาลบริหารประเทศอย่างไร ถ้าได้ความชัดเจนภายในกรอบเดือนส.ค. ยิ่งดี เต็มที่ไม่ควรเกินเดือนพ.ย.นี้ เพราะการไม่มีรัฐบาลทำให้เกิดช่องว่างทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตรงนี้มันกระทบความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการแถลงนโยบายใหม่ที่ชัดเจน จะเป็นตัวชี้ชัดให้นักลงทุนเห็นว่า รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ” นายพจน์ กล่าว
 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนูญในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ว่าจะออกมาอย่างไร หากศาลวินิจฉัยไม่รับคำร้อง เชื่อว่า สามารถเดินหน้าโหวตนายกฯได้เลยภายในสิงหาคมนี้ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่หากศาลฯพิจารณารับคำรอง จะทำให้การโหลตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวต่อไปอีก คาดว่า ใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย ครึ่งเดือน ถึง 1 เดือน ซึ่งหากเกินเดือนกันยายนนี้ไป จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แม้จะสามารถใช้งบเก่าไปพลางก่อนได้ แต่จะไม่มีงบลงทุน เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวต่อไปได้ 

 

นายพจน์กล่าวด้วยว่า หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการสิ่งเร่งด่วน ใน 2 ประเด็น คือ เร่งแถลงนโยบายต่อสภาฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชน  2.จากนั้นให้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทุกมิติ เพราะเป็นตัวนำความสงบสุข และรายได้ต่อสังคมให้กลับมา ส่วนนโนยบายที่หาเสียงที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน อยากให้ทยอยพิจารณาอย่างรอบครอบก่อนดำเนินการ

 

โดยพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ส่วนปัญหาเรื่อง ต้นทุน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน หรือ ดอกเบี้ยที่สูง ในขณะนี้ เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เชื่อว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เตรียมข้อเสนอไว้พร้อมแล้ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่ก็สามารถนำเสนอ เพื่อให้รัฐเร่งดำเนินการได้ทันที