เปิดแผน “KORAT SMART CITY” ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะครบ 7 ด้าน
ด้วยความโดดเด่นของการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาค ทำให้ "โคราช" มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านการจราจร การกำจัดขยะ มลภาวะทางอากาศ และการเกิดอุทกภัยซ้ำๆ ดังนั้น จำเป็นต้องมีแผน “KORAT SMART CITY”เพื่อนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ 25,494 ตร.กม.ประกอบด้วย 32 อำเภอ และมีประชากร 467,267 คน พื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัดนครราชสีมามีศักยภาพที่โดดเด่นเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัด และยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคที่เป็นประตูสู่ภาคตะอันออกเฉียงเหนือ มีสถานการศึกษาที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมร่วมรัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาสำคัญในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มาพร้อมการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ คือ เรื่องของการจราจรติดขัด การบริหารจัดการขยะที่ยังขาดประสิทธิภาพ มลภาวะทางอากาศที่ค่า PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน และปัญหาอุทกภัยที่เกิดซ้ำ ๆ
ต่อยอดเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี
การทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจังหวัดนครราชสีมาจึงมีแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นระบบและเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนในวงกว้างมากขึ้น โดยจังหวัดมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้ครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ เพื่อพัฒนาเมืองในทุกมิติที่ครบทั้ง 7 ด้านของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยได้กำหนดพื้นที่นำร่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่อำเภอเมือง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 772.59 ตร.กม.
ที่ผ่านมา โคราชมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมทางบก โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสาร และ โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบกำจัดขยะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเอง จังหวัดนครราชสีมามีการร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ บริษัท Microsoft Thailand เพื่อร่วมพัฒนาระบบ Cloud Network สร้างความร่วมมือกับ บริษัท Huawei Thailand วางระบบและขยายผล City Dashboard และร่วมมือกับ CAT Telecom ขับเคลื่อน Free Wifi Network ให้กับชาวเมือง และเชื่อมโยงระบบ CCTV ของเมืองโคราชสู่ความเป็น Smart Living โดยกำหนดกรอบนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างและคุณภาพของข้อมูลสู่การเปิดศูนย์ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data)
นอกจากนี้ยังมีการวางแผนและขับเคลื่อนดำเนินการร่วมกัน ผ่านกลไกที่เรียกว่า ศูนย์วิทยาการสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Urban Informatics Center for Smart City) หรือ City Data Platform โดยปัจจุบันศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง ได้รับพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้เป็นสำนักงานเมืองอัจฉริยะจังหวัดนครราชสีมา ทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่เรียกว่า เครือข่ายสถาบันเมืองอัจฉริยะ
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาคือหนึ่งในเมืองที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องการันตีถึงความพร้อมและความตั้งใจในการยกระดับพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมายังคงต้องสร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในยุคดิจิทัล
เปิดศักยภาพเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน 20 โครงการ
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน คือ (1) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (2) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (3) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (4) ด้านการจราจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) (5) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) (6) ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และ (7) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) รวมทั้งสิ้น จำนวน 20 โครงการ ดังนี้
1.ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) จำนวน 4 โครงการ ที่มุ่งเน้นการดูแลและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมครอบคลุม 4 ด้าน คือ ขยะ น้ำ อากาศ และพื้นที่สีเขียว ทางจังหวัดนครราชสีมามีโครงการจัดการขยะในพื้นที่อำเภอเมืองเพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่เรื่องของการแยกขยะจนถึงกระบวนการกจัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกทั้งได้ผลผลิตเป็นพลังงาน ปุ๋ยอินทรีย์ และกระแสไฟฟ้า โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนและพัฒนาระบบระบายน้ำเมืองโคราชอัจฉริยะ (Data drainage system Kirat Smart City) หวังลดความสูญเสียจากอุทกภัยในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 50
โคราชเมืองปลอดฝุ่นที่มีการติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งของคนเมือง เพื่อให้อากาศโดยรอบสะอาดปลอดภัยต่อผู้คน รวมถึงโครงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองและการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหมือนปอดของเมืองและอนุรักษณ์ให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) จำนวน 3 โครงการ เพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหวุนเวียนในกิจกรรมและสถานที่ที่มีการใช้พลังงานสูง ประกอบด้วย โครงการเพิ่มสถานีชาร์จแบตเตอร์รี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อย่างน้อย 30 แห่ง เพื่อสร้างระบบนิเวศและความสะดวกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่อำเภอเมืองที่มีปริมาณการใช้รถหนาแน่น
โครงการส่งเสริมการใช้ Solar Rooftop สำหรับอาคารเพื่อให้เจ้าของอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันดิบที่จะมีการนำร่องในอาคารสำนักงานของส่วนราชการ และโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคการเกษตรและการผลิตซึ่งถือเป็นภาคที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของจังหวัดนครราชสีมา และมีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรกว่าสามแสนครัวเรือน
3. ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย 3 โครงการพี่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่อำเภอเมือง คือ โครงการการยกระดับโคราชสู่การเป็นเมือง Korat Smart MICE City โดยอาศัยศักยภาพของโคราชที่มีการเชื่อมต่อทางการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาแอปพลิเคชันรถเสบียง ที่อำนวยความสะดวกผู้ซื้อและสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นในกลุ่มลูกค้าหมูบ้านจัดสรรกว่า ที่ยังส่งผลช่วยลดการใช้รถส่วนตัวเพื่อออกไปจ่ายตลาดอีกด้วย โครงการจัดทำแผนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว (Korat Smart Map for Tourism) ที่อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและสร้างแรงจูงใจในการจับจ่ายซื้อขายสินค่าและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการเกษตรอีก 2 โครงการ นั่นคือ แอปพลิเคชันLIOS แอปพลิเคชันการเกษตร สำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก (ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่จะลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง โดยเกษตรกรสามารถเลือกขายผลผลิตแก่โรงงานหรือผู้ประกอบการที่ให้ราคาที่เป็นธรรม และมีข้อมูลความต้องการทางการตลาดสำหรับเกษตรกรในการตัดสินใจเลือกปลูกพืชตามความต้องการของตลาดเพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด และโครงการพัฒนานวัตกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย (GAP) เพื่อสร้างมาตรฐานและคงคุณภาพสินค้าการเกษตรเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและการกำหนดราคาที่ได้มาตรฐาน
4. ด้านการจราจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) จำนวน 2 โครงการ เพื่อลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรในเขตอำเภอเมืองโคราช โดยส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ภายใต้โครงการโคราชเดินทางสะดวกปลอดภัยไร้รอยต่อ ที่จะดำเนินการตั้งแต่การสำรวจและกำหนดเส้นทางการเดินรถสาธารณะ การวางโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Train: LRT) ในเขตอำเภอเมืองและการกำหนดจุดเดินรถสองแถว หรือ shuttle bus ที่ให้เกิดโครงข่าย ครอบคลุม และสอดคล้องกับบริบทการเดินทางของทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว พร้อมพัฒนา แพลตฟอร์ม สำหรับผู้ใช้รถสาธารณะเพื่อความสะดวกในการใช้บริการและการร้องเรียนการกระทำความผิดของคนขับรถสาธารณะอีกด้วย
และอีกหนึ่โครงการคือ โครงการติดตั้งระบบบริหารจัดการควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะในเขตพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ลดระยะเวลาบนท้องถนนของประชาชนในพื้นที่
5. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ด้วยแอปพลิเคชันที่จะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อลดปัญหาการร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอรัปชัน ให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเงินภาษีของประชาชนถูกบริหารจัดการอย่างโปร่งใสเป็นธรรม และเพื่อให้การบริการประชาชนของส่วนราชการมีประสิทธิภาพ กระชับและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โครงการราชการพัฒนา บริการพัฒนา เพื่อประชาชน จะมีการพัฒนาระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (E-office) และส่งเรื่องขอรับบริการออนไลน์ และพัฒนาระบบการจัดประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (E-meeting) เพื่อให้การบริหารงานและจัดการภายในส่วนราชการมีความคล่องตัวและลดขั้นตอน
6. ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนานักขายสินค้าและบริการชุมชนบนแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ เพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้านการขายสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 100 คน ที่จะกลายเป็นอีกจุดในการกระจายสินค้าและของดีของจังหวัดโดยเฉพาะผลผลิตด้านการเกษตร
และโครงการสร้างการรับรู้/พัฒนาองค์ความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Korat Smart City) ทั้ง 7 ด้าน เพื่อสร้างความตระหนัก รับรู้และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ
7. ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการระบบบริการสาธารณะสุขจังหวัดนครราชสีมา (Korat Digital Health) ที่รวม แอปพลิเคชัน ด้านสุขภาพและสาธารณะสุขของคนโคราช ทั้งระบบบริการสาธารณะสุขให้ผู้ป่วยเข้าถึงหมอได้จากบ้าน โดยมี อสม. เป็นสื่อกลาง และ ระบบ Korat Smart Hosp สำหรับเก็บข้อมูลผู้ป่วย และแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลตัวเอง และอีกโครงการสำคัญคือ โครงการลำตะคองสู่คลองเกซอน ปรับภูมิทัศน์ของคลองริมลำตะคองซึ่งเป็นคลองที่ไหลผ่านพื้นที่อำเภอเมือง ด้วยหลักการออกแบบ Universal design เพื่อเป็นแหล่งสันทนาการของคนในเมือง มาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกาย พร้อมติดตั้งระบบเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจริยะของจังหวัดนครราชสีมา อาศัยงบประมาณหลักจากภาครัฐ และมีภาครัฐเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ พร้อมได้รับความร่วมมือจากภาคการศึกษาในการสนับสนุนข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในการนำเสนอโครงการและการพัฒนาระบบและบริการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยคณะทำงาน 3 คณะ ซึ่งได้แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1.คณะกรรมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของจังหวัดนครราชสีมา มีหน้าที่ วางแผนและกำหนดยุทศาสตร์ และกำกับ นโยบายการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ บูรณาแผนงานประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.สถาบันเครือข่าย Smart City เมืองอัจฉริยะ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มีหน้าที่เสนอ แผนงานโครงการงบประมาณดำเนินงานขับเคลื่อนเครือข่าย และกลั่นกรองแผนงานโครงการ งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรทั้งนักวิชาการและเครื่องมือเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาจังหวัด จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับ Smart City เพื่อ ประชาสัมพันธ์ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ
3.คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของจังหวัดนครราชสีมา โดยคณะทำงานแต่ละด้านมีหน้าที่แตกต่างกันตามเป้าหมายของแต่ละด้าน และจัดทำแผนเพื่อให้ สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน