posttoday

“เซ็นทรัลแล็บไทย ” หนุนซอฟต์พาวเวอร์ ยกระดับมาตรฐานสตรีทฟู้ดสู่สากล

20 ธันวาคม 2566

เซ็นทรัลแล็บไทย แนะเอสเอ็มอีไทย สร้างมาตรฐานสินค้า ยกระดับธุรกิจสู่สากล ย้ำรัฐบาลมีทุนสนับสนุน ชี้สตรีทฟู้ดไทยต้องมีมาตรฐาน หนุนสู่ซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมเผยเทรนด์สินค้าปีหน้า สินค้ารักษ์โลก-สินค้าสุขภาพและความงาม ยืนหนึ่ง

นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์  กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวในงานสัมมนา Go Thailand 2024 : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง? หัวข้อ Green Market Blue Ocean จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อต้องการให้ประเทศไทยมีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานของตนเอง จากเดิมที่ต้องใช้แต่มาตรฐานของต่างชาติ ทำให้เกิดปัญหาถูกกีดกันทางการค้า บริษัทจึงมีความพร้อมในการเป็นสะพานให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และผู้ประกอบกลางขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ในการนำสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ

สำหรับความท้าทายของเอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญในปีหน้า คือ มาตรฐานสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีมาตรฐานใหม่ในการบังคับใช้มากขึ้น แม้แต่มาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็จะมีการกำหนดมาตรฐานเข้มข้นไปอีก ทว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กลับกลัวการเสียภาษี และคิดว่าทุกอย่างคือค่าใช้จ่าย จึงไม่ได้เข้ามาในระบบการสอบมาตรฐานมากนัก ทำให้ไม่สามารถยกระดับธุรกิจได้ โดยเฉพาะสตรีทฟู้ด ซึ่งนับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย จึงจำเป็นมากที่ต้องมีมาตรฐานทางด้านอาหารรวมถึงการผลิตและวัตถุดิบต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอี อาจคิดว่าการสร้างมาตรฐานต่างๆมีราคาสูง นั้น นายชาคริต กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเงินทุนทางด้านนี้อยู่ โดยเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท รัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนในการตรวจมาตรฐานและยกระดับองค์กรให้ 50% หากเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กมูลค่า ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รัฐบาลสนับสนุนเงินให้ถึง 80% ซึ่งบริษัทเองก็มีพันธมิตรด้านการเงินต่างๆ เพื่อช่วยเหลือยกระดับธุรกิจของเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank),สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank
 

เรื่องที่ต้องเข้าระบบและเสียภาษีนั้น จริงๆเอสเอ็มอี ไม่ต้องกลัวเรื่องนี้ เพราะรัฐมีเพดานรายได้อยู่ว่าแบบไหนเสียหรือไม่เสียภาษี หากได้เข้ามาในระบบเอสเอ็มอีจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าที่คิด

นายชาคริต กล่าวต่อว่า บริษัทมีการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ โดยในปี 2567 บริษัทมีแผนการขับเคลื่อนธุรกิจด้านคาร์บอนเครดิต ได้แก่

1. VALIDATION AND VERIFICATION บริการตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบด้านก๊าซเรือนกระจก พร้อมรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต ครอบคลุมด้านป่าไม้และการเกษตร การแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล

2. CONSULTATION AND PROJECT DEVERLOPMENT บริการให้คำปรึกษาในการพัฒนาโครงการ ทั้งภาคพลังงาน การพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการ ขยะและน้ำเสีย ป่าไม้และเกษตร ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน ทางธุรกิจ ตามแนวคิด BCG และ ESG ตอบสนองต่อมาตรการทางการค้า และความต้องการทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

3. WORKSHOP AND TRAINING บริการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดทำข้อเสนอโครงการ และรายงานการทวนสอบปริมาณการเรือนกระจกรวมทั้งวิทยากรงานสัมมนาทั่วไป ประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายเซ็นทรัลแลปไทย

สำหรับเทรนด์ธุรกิจในปี 2567 ที่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยนั้น คือ เทรนด์ธุรกิจสินค้ารักษ์โลก นอกจากจะมีสินค้าและบริการที่มอบให้กับผู้บริโภคแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย ผ่านการลดปริมาณขยะ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน

และสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการมาก และมากยิ่งขึ้นในช่วงปี 2567 โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวที่ตอบโจทย์กับคนรักสุขภาพ อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ลดการสัมผัส กรรมวิธีที่ลดการปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริการด้านสุขภาพ หรือธุรกิจที่กระตุ้นให้คนใส่ใจในเรื่องสุขภาพ

จากเทรนด์ธุรกิจในปี 2567 ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใส่ใจผู้บริโภคทุกช่วงวัย การสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและโดดเด่น ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ คำนึงถึงความชอบและกิจกรรมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการสามารถจับเทรนด์เหล่านี้มาพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ด้วย 4 แนวคิด ดังนี้

1. ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ให้เน้นไปที่ลักษณะการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

2. ใช้ข้อได้เปรียบจากการเป็นวัตถุดิบของไทย จากเทรนด์สุขภาพ ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อได้เปรียบจากการเป็นแหล่งสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อสุขภาพ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความแตกต่างและเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ ใช้ข้อได้เปรียบทางต้นทุนและคุณภาพ

3. สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและโดดเด่น เช่น พัฒนาแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และจุดแข็งเฉพาะตัว เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ผู้บริโภคในยุคนี้จะสนใจแบรนด์ที่มีตัวตน มีจุดยืน

4. ใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เป็นโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคม รวมไปถึงพนักงาน

นายชาคริต กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการรุกตลาด Blue Ocean โดยมีหัวใจสำคัญคือ บุกตลาดใหม่ที่คู่แข่งน้อย ไม่ต้องโฟกัสคู่แข่ง แต่ต้องพัฒนาหรือต่อยอดสินค้าให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างความต้องการใหม่ มุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าและพยายามลดต้นทุน