กสทช.ลดราคาประมูลดาวเทียม จูงใจรายใหม่ คาดประมูลไตรมาส 3 ปีนี้
กสทช.ลดราคาเริ่มต้นประมูลดาวเทียม จูงใจเอกชนรายใหม่ทำธุรกิจดาวเทียม ออกเกณฑ์เพิ่มการจ่ายผลตอบแทนให้รัฐต่อปี ปรับผู้ชนะหากไม่ทำธุรกิจ ต้องจ่ายเงินเท่าราคาเริ่มต้นประมูลครั้งที่แล้ว คาดเปิดประมูลไตรมาส 3 ปีนี้
นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.ได้ลงมติเห็นชอบ ให้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5,51 และ 142 องศาตะวันออก ในลักษณะจัดชุด ไปรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มในประเด็นการจ่ายค่าปรับกรณีผู้ชนะประมูลได้วงโคจรแล้วไม่สามารถนำไปประกอบธุรกิจได้ โดยจะปรับตามราคาเริ่มต้นประมูลเท่ากับราคาประมูล เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 คือ วงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก ราคา 374 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท
สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งนี้ ได้มีการปรับลดราคาโดยวงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก จากเดิม ราคา 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท โดยมีการตัดค่าโอกาสทางการทำธุรกิจออกไป เนื่องจากวงโคจรตำแหน่งดังกล่าว อยู่ต่างประเทศ ผู้ที่ประมูลได้ต้องทำธุรกิจแข่งกับต่างประเทศ ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจดาวเทียมอยู่ในขาลง และการประมูลครั้งที่ผ่านมาก็ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ
นายสมภพ กล่าวว่า แม้ว่าหลักเกณฑ์การประมูลได้มีการปรับลดราคาเริ่มต้นการประมูล แต่ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% ของรายได้ต่อปี ด้วย โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% หากมีการเคาะราคาต่อครั้งก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ปรับเงื่อนไขการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ให้บริการ ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ ขณะที่เงื่อนไขในการนำคลื่นความถี่ขึ้นใช้งานกับดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ ITU เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยสำนักงานกสทช.จะใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 7 วัน จากนั้นจะนำเสนอเข้าบอร์ดกสทช.เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป คาดว่าจะเงื่อนไขใหม่จะสามารถจูงใจผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิวงโคจรไว้ได้