posttoday

สภาพัฒน์ฯห่วงเด็กไทยทักษะดิจิทัลต่ำ

03 มิถุนายน 2567

สภาพัฒน์ฯ เผยเด็กไทยทักษะดิจิทัลต่ำแม้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ชี้อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี แนะต้องเร่งพัฒนาทักษะอย่างจริงจังเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การจ้างงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1%

ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5%

สำหรับค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13,789 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวม ลดลงเล็กน้อยที่ 0.4% หรืออยู่ที่ 15,052 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ ผลของการลดลงของเงินเฟ้อยังส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์การว่างงานทรงตัว อัตราการว่างงานในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 อยู่ที่ 1.01% โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ลดลงร้อยละ 3.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงาน ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่อายุ 20 – 24 ปี เป็นกลุ่มที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุดและมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1. การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีทักษะการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 64.7% และทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 74.1 สะท้อนว่า กลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้ดี

โดยทักษะด้านดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ที่พบว่า ทักษะดิจิทัล ของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ทั้งนี้ การขาดทักษะดังกล่าวอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้

2. ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม

โดยกองทุนฯ มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบ าเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจ านวนแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ที่ลดลง ซึ่งข้อมูลจากผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2566) พบว่าช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก

โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ร้อยละ 34.6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73.4 ในปี 2564 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 600 บาท เป็น 800 บาท รวมถึงจำนวนผู้ประกันตนเข้าใหม่และเกษียณที่สวนทางกัน โดยในปี 2575 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคนจากเดิมที่ในปี 2565 มีจำนวนเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น เป็นความเสี่ยงที่กองทุนฯจะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน อันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต

3. การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าจ้างของแรงงานกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP at current market prices)พบว่าช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานและ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากในช่วงปี 2559 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยแรงงานส่วนใหญ่มีระดับทักษะที่ไม่สูงนักและจำนวนมากทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพแรงงานไม่มาก อีกทั้ง กว่าครึ่งยังเป็นแรงงานนอกระบบ ส่งผลให้ได้รับค่าจ้างน้อยและไม่แน่นอน