posttoday

มติศาลรธน.เอกฉันท์โทษอาญาพ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

03 กรกฎาคม 2567

มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงเอกฉันท์ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง

เมื่อวันที่ 3ก.ค.67ที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำโต้แย้งเพิ่มเติมของนายวิชา เบ้าพิมพา จำเลยที่ 1 และน.ส.อนา วงศ์สิงห์  จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1571/2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

เนื่องจากกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ออกเช็คในความผิด ซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เป็นความผิดเล็กน้อยและยอมความได้ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนว่าด้วยตั๋วเงินใช้บังคับอยู่แล้ว

โดยเจ้าหนี้มักใช้โทษทางอาญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ข่มขู่ดำเนินคดีอาญากับผู้ออกเช็ค ทำให้ผู้ออกเช็คต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ถูกควบคุมตัว หรือขัง ตลอดจนถูกลงโทษปรับหรือจำคุก กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัว เพียงเพราะเหตุไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1958 ข้อ 11 (2) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 11
 

และทำให้เกิดต้นทุนแก่ภาครัฐที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการ ยุติธรรมทางอาญา มาเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทางแพ่งให้แก่เอกชนเพียงบางราย อีกทั้งยังจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลระหว่างผู้ใช้เช็คกับผู้ใช้ตั๋วเงินประเภทอื่นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากมีเพียงเช็คเท่านั้นที่มีโทษทางอาญา

นอกจากนี้ ผู้ออกเช็คที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อฉล หรือ ต้องการใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยขน์โดยไม่ชอบ แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทันยังอยู่ในข่ายต้องรับผิดทางอาญา เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า การไม่มีเงินชำระหนี้เป็นเพราะเหตุใด 

ทำให้เกิดปัญหาลงโทษผู้กระทำที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริต บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อหลักนิติธรรมเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลขัดต่อหลักความเสมอภาค และขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญา
 

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญาของกฎหมายดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ  

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ นายอุดม รัฐอมฤต และมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง

ที่มา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ