posttoday

กสทช.เงียบกริบ ประมูลดาวเทียมรอบใหม่ ล่มแล้ว ไร้แววเอกชนยื่นซองประมูล

29 กรกฎาคม 2567

แม้มี 2 ราย สเปซ เทค อินโนเวชั่น-พร้อม เทคนิคอล รับเอกสารไปศึกษา แต่สุดท้ายไม่มีใครสนใจยื่นประมูล ขณะที่กสทช.ปล่อยให้เรื่องเงียบไปตามสายลม รอสภาฯชุดใหม่ เรียกชี้แจงปล่อยวงโคจรประเทศไทยหลุดลอย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า การประมูลดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ตำแหน่งวงโคจร  50.5E ,51E  องศา และ 142E  ในลักษณะจัดชุด ไม่มีเอกชนรายใดยื่นความประสงค์เพื่อประมูลวงโคจรดังกล่าวไปทำธุรกิจ ทำให้กำหนดการเดิมที่คาดว่าจะมีประมูลวันที่ 24 ส.ค.นี้ ล่มลง และนับเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งวงโคจรดังกล่าวไม่มีผู้สนใจประมูลตั้งแต่การประมูลรอบแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ กสทช.ทราบเรื่องนี้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.2567 ว่าไม่มีเอกชนสนใจประมูล แต่กลับไม่มีคำชี้แจงออกมาอย่างเป็นทางการว่า ไม่สามารถรักษาวงโคจรไว้ได้ เพราะอะไร ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า วงโคจรข้างต้น มีพื้นที่การให้บริการที่ทับซ้อนกับของเดิมที่มีอยู่แล้ว และคู่แข่งในพื้นที่ก็มีอยู่แล้ว ทำให้เป็นวงโคจรที่ไม่น่าสนใจทำธุรกิจ 

ขณะที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรประจำที่ เป็นธุรกิจขาลง โดยมีดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO เข้ามาแทนที่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่กสทช.ต้องชี้แจงกับวุฒิสภา ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถรักษาวงโคจรของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ เมื่อไม่มีใครสนใจประมูลไปใช้ทำธุรกิจ ประเทศไทยก็ต้องคืนวงโคจรให้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) 

สำหรับกรอบเวลาประมูลดาวเทียม ตำแหน่งวงโคจร  50.5E ,51E และ 142E  ในลักษณะจัดชุด ที่กสทช.กำหนดไว้ ประกอบด้วย

4-25 มิ.ย.67     เปิดให้มีการรับเอกสารการคัดเลือก 

26 มิ.ย.67    ประชุมชี้แจงกระบวนการคัดเลือก และการออกแบบคำขอรับอนุญาต

23 ก.ค. 67    เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเอกสารประมูล

13 ส.ค.67    ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ  

21 ส.ค.    67    นัดเอกชนที่เข้าร่วมประมูลประชุมเพื่อชี้แจง

24 ส.ค. 67    จัดประมูล 

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้ การแก้ไขปรับปรุง และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ณ ต่าแหน่งวงโคจร  50.5 ,51 E และ 142 E  ในลักษณะจัดชุด( แพคเก็จ) ใหม่ เพื่อดึงดูดให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูล อาทิ ได้มีการปรับลดราคา โดยวงโคจร 50.5,51 E จากเดิม ราคา 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท และ วงโคจร 142 E ราคา 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจ่ายค่าปรับ กรณีผู้ชนะประมูลได้สิทธิวงโคจรไปแล้วไม่สามารถนำไป ประกอบธุรกิจได้นั้น จะโดนปรับตามราคาเริ่มต้นประมูลเท่ากับราคาครั้งที่ผ่านมาคือ วงโคจร 50.5,51 E ราคา 374 ล้านบาท และ วงโคจร 142 E ราคา 189 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ได้มีการปรับลดราคาเริ่มต้นการประมูลลง แต่ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% ของรายได้ต่อปี ด้วย โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% หากมีการเคาะราคาต่อครั้งก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% ด้วย

ขณะเดียวกันยังได้ปรับเงื่อนไขการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลา ในการดำเนินการ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะพื้นที่ให้บริการ ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ 

ที่สำคัญ สำนักงานกสทช. ยังมีการขอเพิ่มงบประมาณการประชาสัมพันธ์จาก 1 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท เพื่อเพิ่มในรูปแบบโฆษณาทางทีวีดิจิทัลด้วย ทำให้งบประมาณในการจัดประมูลเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านบาท เป็น 6 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจประมูล และกสทช.เองก็ยังเงียบ ไม่มีการออกมาชี้แจงแต่อย่างใด