posttoday

ให้ฟรี จะเอาไหม ? ทำไมดาวเทียมไทย ไร้คนประมูล

03 สิงหาคม 2567

Finall Call ดาวเทียมไทย ไร้คนสนใจ แม้เปิดประมูลมาแล้วถึง 2 รอบ เหตุผลแท้จริงคืออะไร เป็นเกมกดดัน กสทช. เปลี่ยนหลักเกณฑ์ ให้ฟรี หรือไม่ ถึงเวลาวัดใจรัฐบาล VS กสทช. อยากรักษาวงโคจร หรือ ถึงเวลาคืนเขาไป

หมดเสน่ห์ ได้ไม่คุ้มเสีย เหตุผลใหญ่ไร้คนประมูล ?

ตั้งแต่การประมูลดาวเทียมรอบแรก วันที่ 15 ม.ค.2566 ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 50.5/51 E และ 142 E ก็ขายไม่ออกตั้งแต่ตอนนั้น แม้กระทั่ง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็นคนรักษาวงโคจรนี้มาก่อน ก็ยังไม่สนใจ อะไร คือสาเหตุที่แท้จริง !!!

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ไทยคม ไม่เห็นชอบในการเข้าร่วมประมูลครั้งล่าสุดนี้ เพราะไทยคมเอง กำลังก้าวสู่ธุรกิจสเปซเทค และกำลังมีดาวเทียมดวงเล็ก ดวงใหม่ 2 ดวง ยิงขึ้นสู่อวกาศต้นปีหน้า และดวงใหญ่อีก 1 ดวง ภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า จึงมองไม่เห็นความสำคัญที่ต้องลงทุนในดาวเทียมวงโคจรประจำที่เพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ดาวเทียมวงโคจรต่ำกำลังเข้ามาแข่งขันในตลาด

สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์คือ คู่แข่ง ที่ตอนนี้มีดาวเทียมต่างชาติครองตลาดอยู่หลายดวง ขณะที่เหลือจำนวนทรานสปอนเดอร์อีกเพียงเล็กน้อยในการทำตลาด ที่สำคัญ คนที่ได้วงโคจรไป ต้องดำเนินการลากดาวเทียมดวงอื่นมาใช้ในวงโคจร 50.5/51 E ก่อน 27 พ.ย.2567 นี้ เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรไว้ก่อน คาดว่าต้องใช้งบประมาณหลัก 100 ล้านบาท และภายใน 5 ปี ต้องสร้างดาวเทียมขึ้นมาเอง ในขณะที่ธุรกิจอยู่ขาลง และคู่แข็งเต็มน่านฟ้าไปแล้ว

ให้ฟรี จะเอาไหม ? ทำไมดาวเทียมไทย ไร้คนประมูล

จึงเป็นที่มาให้ กสทช.เปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลอีกรอบ เน้นรักษาสิทธิ ไม่เน้นราคาประมูล ซึ่งอาจมีข้อครหาตามมา ว่า เอื้อเอกชน หรือไม่ ซึ่งกสทช.ก็ต้องเลือก ระหว่าง ข้อครหา หรือ การรักษาสิทธิวงโคจร แม้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อกสทช.ทำสุดความสามารถแล้ว ยังรักษาสิทธิไม่ได้ ก็สามารถคืนกลับไปยังไอทียู ได้อยู่แล้ว แต่มันคือสิ่งที่ไม่ถูกใจหลายคน เพราะยังคิดว่า วงโคจรดาวเทียม คือ สมบัติชาติ !!!

ย้อนไทม์ไลน์  ประมูล 2 รอบ ก็ขายไม่ออก

ปี 2534-2564 ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 2 วงโคจร คือ 50.5/51E และ 142 E อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสาร โดยประเทศไทยต้องยื่นขอสิทธิเข้าใช้วงโคจรต่อ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการดูแลของ ไทยคม 

ทว่าในปี 2562 มีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 มาตรา 27 (14/1) กสทช.มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียม ด้วยการประมูลเท่านั้น

ทำให้เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา กสทช.นำวงโคจรดาวเทียม 5 แพ็กเกจออกมาประมูล แต่กลับพบว่า เหลือ แพ็คเกจที่ 1 และ 5 คือ วงโคจร คือ 50.5/51E และ 142 E ตามลำดับที่ไม่มีใครสนใจ  ผลการประมูลดาวเทียมรอบแรก

สำนักงานกสทช.จึงทำหนังสือไปสอบถามกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทันทีในเดือน ก.พ.2566 เพื่อขอทราบนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพราะหากกสทช.ไม่สามารถหาเอกชนมาทำธุรกิจในวงโคจรที่ขอสิทธิจากไอทียู กสทช.ต้องคืนสิทธินี้ให้ไอทียู ตามเงื่อนไขของไอทียู แต่กระทรวงดีอี ก็ตอบกลับมาว่า ดาวเทียมวงโคจรดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผน

กสทช.จึงต้อง นำวงโคจรที่ขายไม่ออกในรอบแรก มาปรับเงื่อนไขประมูลใหม่ด้วยการลดราคาเคาะประมูลเริ่มต้น เงื่อนไขลดราคาประมูลรอบ2 แต่ท้ายสุด การประมูลครั้งที่ 2 ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีเอกชนรายใดสนใจ อีกเช่นเคย ประมูลรอบ 2 ล่ม

3 ทางออก กสทช.รักษาสิทธิสุดชีวิต ก่อนหลุดลอย พ.ย.67

ถามว่าเราเตรียมแผนไว้ไหม เราเตรียมไว้ แต่ตอนนั้นเราบอกเอกชนไม่ได้ ลึกๆ เรากลัวนะ ว่าไม่มีใครมา แต่ก็คิดว่าจะมีสักรายหนึ่ง แต่ก็ไม่มี ในทางคู่ขนาน กับการประมูล เราจึงได้แก้กฎหมายการจัดสรรดาวเทียม ใหม่ ให้การจัดสรรไม่ต้องเคาะราคา เน้นการรักษาวงโคจร จึงการประมูลเป็นแบบ การยื่นข้อเสนอ แทน ตอนนี้รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนนี้

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการ กสทช.ด้านโทรคมนาคม อธิบายถึงแผนสำรองที่เตรียมไว้ ปรับเกณฑ์ประมูลใหม่ ไม่เคาะราคา

อีกทางเลือกคือ เราจะทำหนังสือถึงรัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งวันที่ 24 ก.พ.2566 ว่าจะนำวงโคจรดาวเทียม 2 วงโคจรนี้เป็นดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติหรือไม่ เนื่องจากเป็นคนละรัฐบาลกัน คำตอบอาจจะเปลี่ยน

ทางเลือกสุดท้าย คือ ให้สำนักงานศึกษาความเป็นไปได้ ข้อกฎหมาย และงบประมาณที่ต้องใช้ หากสำนักงานกสทช.ต้องเป็นคนรักษาสิทธิเสียเอง ว่าจะคุ้มค้า หรือ ผิดกฎหมาย หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามของกสทช.ว่าได้ทำเต็มที่ทุกทางแล้ว หากสุดท้ายไม่มีใครสนใจจริง กสทช.ก็สามารถคืนวงโคจรดังกล่าวกลับไปยังไอทียูได้ โดยวงโคจรแรก 50.5/51 E จะหมดอายุการขอสิทธิ 27 พ.ย.นี้ ขณะที่อีกวงโคจร คือ 142 E ยังมีเวลาเหลืออีก 1 ปีถัดไป

ให้ฟรี จะเอาไหม ? ทำไมดาวเทียมไทย ไร้คนประมูล

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช.

เหลืออีกไม่ถึง 4 เดือน ต้องมาลุ้นกันว่าสุดท้ายจะลงเอยที่ทางเลือกไหน หรือ เอกชนอาจรอจ้องอยู่ เพราะการไม่ประมูล อย่างน้อยก็ประหยัดเงินไปก่อนแล้ว 41 ล้านบาท