posttoday

ดัชนีวัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย ภารกิจ AIS ยกระดับทักษะดิจิทัลสู่ความยั่งยืน

27 สิงหาคม 2567

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หนึ่งในภารกิจยกระดับทักษะดิจิทัล สะท้อนความตั้งใจของ AIS ที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

นับเป็นปีที่ 2 ที่ AIS ได้ทำผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index 2024 นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลอย่างปลอดภัย และที่ผ่านมา AIS ก็มุ่งทำเรื่องนี้อย่างจริงจังในหลากหลายเรื่องราว ทั้งการสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครื่องมือด้านเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการปกป้องการใช้งานของลูกค้ามากมาย ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER 

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา AIS ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการ เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ฉบับแรกของไทย ที่ทำให้เห็นถึงระดับทักษะการรับรู้และความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่คนไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถหยิบผลการศึกษาของ AIS ไปต่อยอดในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ได้ตรงกลุ่มอายุ อาชีพ หรือแม้แต่พื้นที่ ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน

สำหรับการวัดผลการศึกษาของดัชนี Thailand Cyber Wellness Index 2024 นั้น มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยทุกช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวม 50,965 ตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าระดับสุขภาวะทางดิจิทัลของคนไทยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับพื้นฐาน และยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่ง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น

ดัชนีวัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย ภารกิจ AIS ยกระดับทักษะดิจิทัลสู่ความยั่งยืน

ดังนั้นในปีนี้ และ ปีหน้า AIS ตั้งเป้าในการยกระดับ และสร้างทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประชาชน ให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือ  “Digital Health Check” เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อรู้ผล ระบบก็จะมีการแนะนำช่องทางไปต่อ เพื่อให้เราได้เสริมสร้างความรู้ที่เหมาะกับระดับความรู้ของเรา เช่น การรับชมละครคุณธรรม หรือ ความรู้ในรูปแบบการ์ตูน ที่เข้าใจง่าย”

ดัชนีวัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย ภารกิจ AIS ยกระดับทักษะดิจิทัลสู่ความยั่งยืน

การพัฒนาดัชนี Thailand Cyber Wellness Index ถือเป็นส่วนสำคัญที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมผ่านการส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีโครงการอุ่นใจ ไซเบอร์ ที่ช่วยสร้างทักษะด้านดิจิทัลและภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับประชาชน เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ดัชนีนี้ช่วยให้ AIS สามารถประเมินและปรับปรุงการให้บริการด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความปลอดภัยของลูกค้าและคนไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ AIS จะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทักษะโดยโดยในวัยเด็ก AIS มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในการนำหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ เข้าไปให้ความรู้ในโรงเรียน ขณะที่กลุ่มวัยเกษียณ AIS ทำงานร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กรุงเทพมหานคร ในการให้ความรู้ และทำโครงการเสริมสร้างความรู้ร่วมกัน 

ดัชนีวัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย ภารกิจ AIS ยกระดับทักษะดิจิทัลสู่ความยั่งยืน

รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) , ตำรวจไซเบอร์ และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในการสกัดกั้นมิจฉาชีพ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การปิดเบอร์มือถือของผู้ถือครองซิมเกิน 5 เลขหมาย โดยไม่มีการยืนยันตัวตน การบล็อกเบอร์มิจฉาชีพ การควบคุมสัญญาณชายแดน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ การปิดกั้นการเข้าถึงลิงก์ของมิจฉาชีพที่ส่งแนบมาพร้อม SMS 

AIS ยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้องและปลอดภัย พร้อมทั้งผลักดันให้การยกระดับทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด