posttoday

ดีป้าเปิดแผนปี 68 สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท

29 สิงหาคม 2567

เปิดแผนดีป้าปี 68 พัฒนาทักษะดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล ส่งเสริมสมาร์ท ซิตี้ SME สตาร์ทอัพ ภายใต้กรอบงบประมาณ 1,800 ล้านบาท เผย 8 ปี หนุนโครงการ 1,560 โครงการ อนุมัติงบ 1,930 ล้านบาท สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 24,300 ล้านบาท

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2568 ดีป้าได้รับงบประมาณ 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินเดือนพนักงาน 200ล้านบาท งบผูกพันสร้างอาคารดิจิทัล วอลเลย์  900 ล้านบาท โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัล 80 ล้านบาท โครงการทรานส์ฟอร์มอุตสากรรมสู่ดิจิทัล 320 ล้านบาท  และ โครงการสมาร์ท ซิตี้ 300 ล้านบาท 

แผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568  ดีป้ายังคงเน้น Perform Better, Think Faster and Live Better หรือการส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดยดีป้า จะให้ความสำคัญกับการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของประเทศ โดยสานต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง ‘โค้ดดิ้ง’ แก่ประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย 

อีกทั้ง ยังมุ่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มนิสิตและนักศึกษา รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 2 ปีในสาขา IT และ Non IT ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมโดยการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพสากลก่อนป้อนเข้าสู่ระบบ ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่ที่ดำเนินการผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ดีป้าเปิดแผนปี 68 สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า

นอกจากนี้ ดีป้าจะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พร้อมส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์สั้น หนังใบ้ที่สร้างสรร์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และการดำเนินโครงการสำคัญอย่าง depa ESPORTS กลไกการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมเกมของไทย รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยในทุกระยะการเติบโต การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกลไกบัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog)

รวมทั้งยังสร้างมาตรฐาน dSURE โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย แผนส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain และ Quantum Computing รวมถึงโครงการเรือธงอย่าง 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD) (ชุมชนโดรนใจ) 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (สมาร์ทลีฟวิ่ง) และ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ทุเรียนดิจิทัล)

สำหรับแนวทางการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของ ดีป้า แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะยาวกับโครงการ Coding Thailand ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง และล่าสุดกับโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ระยะกลางกับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ระยะสั้นกับโครงการ CONNEXION ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแก่บรรดาผู้ประกอบการผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อต่าง ๆ เช่น การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence ฯลฯ

การเปลี่ยนเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการยกระดับ Formal Sector เพื่อ Transform Informal Sector ผ่านการมุ่งพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ การเปลี่ยนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมสู่ฮาร์ดแวร์ที่มีซอฟต์แวร์ฝังตัว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ นอกจากนี้ยังได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่รวมสินค้าและบริการจากดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดมาตรฐาน dSURE โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วกว่า 400 รายการ สำหรับการสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม

นายณัฐพล กล่าวว่า ดีป้ายังเน้นส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมผ่านบัญชีบริการดิจิทัล เมืองสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชนได้ตรงจุด

สุดท้ายคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ล่าสุดกับอาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Center อาคารแห่งที่สองของโครงการฯ ที่เปิดให้บริการแล้วและได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ CENTERPOINT พื้นที่เรียนรู้ด้านดิจิทัล ขนาดพื้นที่ 150 ตารางเมตรบนชั้น 3 ของอาคาร ขณะที่อาคาร Digital Innovation Center, Digital Edutainment Complex และ Digital Go Global Center คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568

8 ปีที่ผ่านมาว่า ดีป้า ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 1,560 โครงการ ผ่าน 13 มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนของสำนักงานฯ รวมวงเงินอนุมัติกว่า 1,930 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 24,300 ล้านบาท