posttoday

สัมภาษณ์พิเศษ : พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ โอกาสประเทศไทยสู่ฐานยิงจรวดในภูมิภาค

02 กันยายน 2567

การแสดงวิสัยทัศน์ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ในงาน Vision for Thailand 2024 สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การทำให้ประเทศไทยเป็นฐานยิงจรวดในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงทำให้มีข้อได้เปรียบในการยิงจรวด หรือ ดาวเทียม แม่นยำ รับการเติบโตดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ต้องใช้ดาวเทียมจำนวนมากในการให้บริการ

ประเด็นดังกล่าว โพสต์ทูเดย์ ไม่รอช้าที่จะสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงเรื่องดังกล่าว กับโอกาสของประเทศไทยว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ในการเป็น “ท่าอวกาศยาน” (Spaceport)

ตามที่อดีตนายกทักษิณฯ พูดถึงการสร้างสนามยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมในประเทศไทย นั้น กสทช. ต้องเป็นผู้ดูแลหรือเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร?

ถ้าจะตอบตรงๆ ตามอำนาจหน้าที่นั้น กสทช. ไม่ได้เป็นผู้ดูแลโดยตรง แต่ กสทช. เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนตัวสนับสนุนต้องการให้เกิดขึ้น เพราะ กสทช. มีหน้าที่และอำนาจในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้ “วงโคจรดาวเทียม” ดังนั้นหากผมจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ระหว่าง เครื่องบินที่บินอยู่บนท้องฟ้า กับ ดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่บนอวกาศนั้น “เครื่องบิน” ต้องมีสนามบิน หรือ “ท่าอากาศยาน” ซึ่งก็คือ “Airport” ที่ใช้สำหรับการขึ้นและลงของเครื่องบิน 

สำหรับ “ดาวเทียม” ก็ต้องมีสนามยิงหรือฐานปล่อยจรวดซึ่งก็คือ “Rocket Launch Site” เพื่อส่งดาวเทียม เช่นกัน และพัฒนาต่อยอดเป็น “ท่าอวกาศยาน” หรือ “Spaceport” ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมใช้ในการส่งและรับจรวดเพื่อส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรบนอวกาศนั้นเอง โดยที่ “วงโคจรดาวเทียม“ หรือ “Satellite Orbit” ก็เปรียบเสมือน “เส้นทางการบิน” หรือ “Flight Route” ที่ดาวเทียมนั้นใช้ในการโคจรรอบโลก โดยที่เครื่องบินต้องบินบนท้องฟ้าที่มีความสูงไม่เกิน 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่ถ้าสูงเกินนี้ก็จะกลายเป็นอวกาศ หรือ space ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้ “วงโคจรดาวเทียม” ของประเทศไทย แต่ไม่ได้มีหน้าที่อนุญาตสิทธิในการสร้างฐานยิงจรวดหรือท่าอวกาศยานแต่อย่างใด

สัมภาษณ์พิเศษ : พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ โอกาสประเทศไทยสู่ฐานยิงจรวดในภูมิภาค
 

แล้วประเทศไทย จะเหมาะหรือมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในการพัฒนา “ท่าอวกาศยาน” เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีดาวเทียมอยู่ไม่ถึง 10 ดวง และได้ข่าวว่า กสทช. จัดประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมล่าสุดก็ไม่มีใครสนใจ?

เหมาะและเป็นไปได้มาก ในฐานะทหารอากาศเก่า ผมขอเปรียบเทียบกับเครื่องบิน เช่นเดิม คือ ถามว่าประเทศไทยเอง มีเครื่องบินเป็นของตนเองกี่ลำ ? ซึ่งไม่น่าเกินหลักพัน รวมทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้ผลิตเครื่องบินเองด้วยซ้ำ แต่ทำไมประเทศไทยมีสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation Hub) ได้

ดังนั้น เช่นเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีดาวเทียมไม่กี่ดวง แต่ประเทศไทย สามารถเป็น ศูนย์กลางท่าอวกาศยาน ได้ และยิ่งหากเข้าใจถึงเงื่อนไขทางเทคนิคที่ใช้ในการพิจารณาจัดตั้งท่าอวกาศยานที่มีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น

ประการแรก คือ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมมาก เพราะตามหลักแล้วท่าอวกาศยานควรตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร (equator) มากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์จากความเร็วการหมุนของโลก ที่จะช่วยให้จรวดสามารถบรรทุกสิ่งของที่หนักกว่าเช่นดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้โดยใช้เชื่อเพลิงที่น้อยลง เนื่องจากได้รับการหนุนจากการหมุนของโลกเป็นอย่างมาก 

สัมภาษณ์พิเศษ : พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ โอกาสประเทศไทยสู่ฐานยิงจรวดในภูมิภาค พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.

อย่างไรก็ตาม นอกจากควรตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแล้วควรอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวเวลายิงจรวดจึงมักนิยมอยู่บนสถานที่ริมฝั่งทะเลและยิ่งจรวดไปเหนือน่านน้ำทะเลเปิด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเหมาะสม สำหรับเงื่อนไขประการต่อไป เช่น สภาพอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่ควรมีท้องฟ้าแจ่มใส ลมสงบ อุณหภูมิคงที่ ไม่เป็นพื้นที่แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ หรือเกิดพายุ ฟ้าผ่า บ่อยครั้ง 

รวมทั้งก็ควรที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รองรับทั้ง ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการบินและอากาศยาน ซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อมและสามารถต่อยอดได้ดียิ่งขึ้น

ในแง่ความคุ้มค่า ที่ประเทศไทยต้องลงทุนจะเหมาะหรือไม่? และอุตสาหกรรมดาวเทียมหรืออวกาศจะไกลเกินฝันไปหรือไม่?

ในอดีตการส่งจรวดเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับรัฐบาลและทหารเท่านั้น ทำให้มีท่าอวกาศยานหรือแม้เป็นเพียงสนามยิงจรวดอยู่ไม่กี่แห่งที่เป็นที่รู้จัก เช่น ที่แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ที่ NASA ใช้ ส่วนยุโรปก็ต้องไปที่ เฟรนซ์เกียน่า ทวีปแอฟริกา ยกเว้นรัสเซียใช้ฐานยิงที่คาซัคสถาน แต่ก็ไม่ค่อยเหมาะ เช่นเดียวกับของประเทศจีน เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม 

ทว่าปัจจุบันเอกชนและหน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดาวเทียมนั้นเปลี่ยนไปไวมาก เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก่อนมาเป็นรองเลขาธิการ กสทช. ผมเคยเป็น ผอ.กองแผนและวิศวกรรม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม และได้มีโอกาสไปดูงานศูนย์วิจัยและพัฒนากิจการอวกาศของประเทศจีนและเกาหลีใต้ 

สมัยนั้นการสร้างดาวเทียมต้องใหญ่และใช้ทุนมาก เพื่อนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรค้างฟ้าที่มีระยะสูงจากพื้นโลกมาก เพื่อให้ดาวเทียมนั้นอยู่บนอวกาศแบบประจำที่ เสมือนการมีสถานีทวนสัญญาณ หรือ Cell Site ที่ใช้ในกิจการสื่อสารได้ แต่ปัจจุบันดาวเทียมสื่อสารได้เปลี่ยนเป็นการใช้ดาวเทียมดวงเล็กลงและโคจรรอบโลกด้วยวงโคจรต่ำ 

นอกจากนี้ จากที่ผมเคยไปประชุมที่ ITU หลายครั้ง พบว่าปัจจุบัน เช่น Starlink โดยสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นเอกสาร filing เพื่อขอปล่อยดาวเทียมเอาไว้มากถึง 42,000 ดวง รวมทั้งประเทศในยุโรปก็ได้ยื่นเอกสารขอยิงดาวเทียม Oneweb ไว้หลายพันดวง เช่นกัน รวมทั้งประเทศจีนก็มีแผนที่จะยิงดาวเทียมประเภทนี้นับหมื่นดวงเช่นกัน และที่สำคัญดาวเทียมประเภทนี้จะมีอายุการใช้งานที่สั้น ไม่เหมือนดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ที่มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ดาวเทียมประเภทนี้จะมีอายุใช้งานประมาณ 5 ปีเท่านั้น 

นั้นหมายความว่าก็จะต้องมีการยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้กิจการอวกาศมิใช่เพียงแค่การส่งดาวเทียมเท่านั้น การส่งคนขึ้นไปท่องเที่ยวบนอวกาศ หรือ การสร้างและส่ง data center บนอวกาศ นั้นก็จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถรองรับในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะรีบคว้าโอกาสนี้ให้ได้

 จะทำให้ฝันนี้ของประเทศไทยเป็นจริงได้อย่างไร?

อย่างที่อดีตนายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ คือ ประเทศไทยต้องร่วมมือกับประเทศที่มีความต้องการในเรื่องนี้ เช่น ประเทศจีน ซึ่งต้องเสนอความร่วมมือให้มาร่วมลงทุนในประเทศไทย ซึ่งก็จะได้ทั้งเงินลงทุนและเทคโนโลยี เพราะประเทศจีนนั้นมีที่ตั้งที่ไม่เอื้ออำนวยหากเทียบกับไทย รวมทั้งการเปิด EEC ก็มีเป้าหมาย S Curve ในอุตสาหกรรมการบินที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานและเกี่ยวเนื่องอยู่แล้ว 

เช่นเดียวกับในอดีตที่เราก็เคยดึงญี่ปุ่นมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็น่าที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนและทำให้ประเทศไทยได้พัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ในอนาคตด้วย และเมื่อเศรษฐกิจดีปัญหาสังคมความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะเบาบางลงด้วย ขอให้เราได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และมีความรู้คู่คุณธรรมที่แท้จริงมาบริหารองค์กร ดีกว่าที่จะให้มีแต่ผลไม้พิษมาบริหารองค์กรอยู่ ประเทศไทยคงจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนดั่งที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้