posttoday

กสทช.สมภพ ปลดล็อก 3 โจทย์หิน ขับเคลื่อนภารกิจโทรคมนาคมของชาติ

06 ตุลาคม 2567

เปิดบทพิสูจน์ สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง เขาได้ฝ่า 3 ภารกิจสุดหิน ทั้งเรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียม แผนประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ และการจัดระเบียบสายสื่อสาร ท่ามกลางความขัดแย้งของบอร์ดกสทช.ที่คนภายนอกมองเข้ามา จนวันนี้มีผลงานออกมาเป็นรูปธรรม

          โพสต์ทูเดย์ มีโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม หลังเขาได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ณ ตอนนี้ทำงานได้ 1 ปี 6 เดือน ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมีภารกิจใดบ้างที่มีผลงานออกมาเป็นรูปธรรม ท่ามกลางความขัดแย้งของบอร์ดที่คนภายนอกมองเข้ามา

          กสทช.สมภพ เริ่มเล่าย้อนไปเมื่อวันแรกที่เข้าทำงานว่า ภาพที่คิดก่อนมาทำงาน และ เริ่มทำงาน ต่างกัน ไม่คิดเลยว่า ต้องมีคดีที่ถูกฟ้องมากถึงเพียงนี้ ทั้งจากเอกชน และ จากคนในกสทช.เอง วันไหนที่ต้องมีภารกิจไปต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ ทุกครั้งที่กลับมา เอกสารกองอยู่บนโต๊ะเยอะมาก จนเขาไม่อยากไปไหน ยอมรับว่างานเยอะจริงๆ ส่วนประเด็นเรื่องการโหวตเสียงข้างมาก ข้างน้อย เขามองว่า ก็ไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไป ที่เป็นเช่นนั้น เขามองถึงประเด็นในแต่ละเรื่องที่โหวตมากกว่า ไม่ใช่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อย่างที่หลายคนเข้าใจ

รักษาวงโคจรดาวเทียมชาติ จนวินาทีสุดท้าย

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจสุดหินเรื่องแรก ที่เขาต้องเผชิญ คือ การประมูลวงโคจรดาวเทียมประจำที่ ซึ่งก่อนหน้านั้นกสทช.เปิดประมูลแล้ว แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าประมูล โดยเขาต้องทำทุกวิธีทางในการรักษาวงโคจรดาวเทียมซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นสมบัติของชาติ โดยเฉพาะวงโคจรตำแหน่ง 50.5 ที่จะสิ้นสุดสิทธิวันที่ 27 พ.ย. 2567 นี้ 

กสทช.สมภพ ปลดล็อก 3 โจทย์หิน ขับเคลื่อนภารกิจโทรคมนาคมของชาติ สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม

          แม้จะมีการปรับราคาเริ่มต้นการประมูล ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมประมูล จนเขาต้องมีแผนสำรองที่ทำคู่ขนานกันไปด้วยการเปลี่ยนการประมูลจากที่ต้องเสนอราคาแข่งกัน เป็น การเสนอผลตอบแทนให้รัฐ https://www.posttoday.com/business/711631
https://www.posttoday.com/business/712828
https://www.posttoday.com/business/711823
https://www.posttoday.com/business/714027

กสทช.สมภพ ปลดล็อก 3 โจทย์หิน ขับเคลื่อนภารกิจโทรคมนาคมของชาติ

          กสทช.สมภพ ยังได้เปิดใจด้วยว่า เรื่องดาวเทียม เป็นสิ่งที่หลายคนอาจคิดว่ายาก แต่สำหรับตนเองและทีม เคยทำงานอยู่ในสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า มาก่อน โดยเขาเคยเป็นอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ ของ จิสด้า วาระ 5 ส.ค.2557-31 ม.ค.2559 และเป็นที่ปรึกษาด้านโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ของจิสด้า วาระ 1 ก.พ.2559-24 ก.ค.2560) รวมถึงเคยนั่งเป็นอนุกรรมการ กสทช.ด้านกิจการดาวเทียม วาระ 18 พ.ค.2565-19 พ.ย.2565 ทำให้มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของดาวเทียมเป็นอย่างดี

ประมูลคลื่นมือถือครั้งใหม่ ยังไม่เรียกว่า 6G

          ภารกิจต่อมา ที่กสทช.ด้านโทรคมนาคม ต้องทำและเป็นความหวังในการนำรายได้เข้ารัฐ คือ การประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม ซึ่งภายในไตรมาสแรกปี 2568 กสทช.สมภพ มั่นใจว่า จะนำคลื่นของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่กำลังจะหมดอายุการอนุญาตในเดือน ส.ค. 2568 ออกมาประมูลล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ใช้งานอยู่กระทบ สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 

          กสทช.สมภพ ขยายความว่า NT ต้องคืนคลื่นมาให้ กสทช.จำนวน 4 คลื่น ได้แก่ 850 MHz,1500 MHz,2100 MHz และ 2300 MHz โดยคลื่น 1500 MHz ยังเป็นคลื่นที่กำหนดใช้ในกิจการประจำที่ ไม่ใช่คลื่นมือถือ ดังนั้น กสทช.จึงต้องประมูล 3 คลื่น คือ  850 MHz,2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งคลื่น 850 MHz นั้น NT แจ้งว่า มีลูกค้าใช้งานอยู่กว่า ล้านเลขหมาย แต่กสทช.คาดว่ามียอดใช้งานจริงเพียง 7 แสนเลขหมาย 

          ขณะที่คลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz เป็นคลื่นที่ NT เป็นพันธมิตรให้เอกชนทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สร้างสถานีฐานในการให้บริการ จึงเชื่อว่า เอกชนทั้ง 2 รายจะสนใจประมูลคลื่นดังกล่าว เนื่องจากได้ลงทุนอุปกรณ์ไว้แล้ว แต่ยังใช้งานได้เพียง 3-5 ปี เท่านั้น

https://www.posttoday.com/business/713087

https://www.posttoday.com/business/714104

          สำหรับคลื่นที่หลายคนจับตามอง คือ คลื่น 3500 MHz ว่าจะเป็นคลื่นยุค 6G หรือไม่นั้น กสทช.สมภพ เล่าว่า ทั่วโลกยังไม่มีมาตรฐาน 6G เห็นได้จากที่หัวเว่ย ทดลองก็ยังเป็นแค่ 5.5G ดังนั้นในประเทศไทยคลื่นที่จะนำออกมาประมูลยังคงเป็นการใช้งาน 4G หรือ 5G เท่านั้น โดยคลื่น 3500 MHz อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการประมูลและจัดสรรคลื่นย่าน 3500 MHz (3300 - 4200 MHz) โดยคำนึงถึงแผนการย้ายการใช้งานทีวีจานดำ (TVRO) และการใช้งานสำหรับ 5G Private Network ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคลื่นนี้เป็นคลื่นดาวเทียมที่ผู้ประกอบการดาวเทียมใช้อยู่ และ ทีวีดิจิทัล ใช้คลื่นนี้ในการกระจายสัญญาณสู่ประชาชน

          เขาเล่าว่า แผนการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงแรก 3300-3700 MHz นั้น จะเน้นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ในช่วงปี 2570  ขณะที่แผนการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงที่สอง 3700-4200 MHz จะอยู่ในช่วงปี 2572 โดยจะผลักดันใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ย่าน 3500  MHz  สำหรับการใช้งานกับ 5G Private Network ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการประมูลจะเป็นการประมูลล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ทีวีดิจิทัลที่ใช้งานอยู่ได้รับผลกระทบ

          นอกจากความถี่ย่าน 3500 MHz แล้ว กสทช. ได้กำหนดคลื่นความถี่ย่าน 4800 - 4900 MHz สำหรับการใช้งานสำหรับกิจการ Private Network ไว้ก่อนหน้า โดยแม้ปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับความถี่ย่านนี้แพร่หลายในท้องตลาด สำนักงาน กสทช. ก็มีแผนจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การใช้งานความถี่ย่านนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 

กสทช.สมภพ ปลดล็อก 3 โจทย์หิน ขับเคลื่อนภารกิจโทรคมนาคมของชาติ

ชูแนวคิดลาสไมล์ แก้ปัญหาสายสื่อสารรุงรัง 

          เล่ามาถึงตอนนี้ โพสต์ทูเดย์ อดที่จะถามถึงภารกิจมหากาพย์อย่างโครงการท่อร้อยสาย หรือ การทำสายสื่อสารลงท่อใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง ว่าสำเร็จตามเป้าหมายไปมากน้อยแค่ไหน กสทช.สมภพ ให้คำตอบว่า ยังไม่ถึง 10% 

          เขาเล่าให้ฟังว่า ปัญหาที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้า และแทบไม่เดินหน้า เพราะท่อร้อยสายของ NT เก่า ใช้งานไม่ได้ ขณะที่กรุงเทพมหานครเอง พยายามจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนมาทำ แต่ก็มีคนท้วงติง เรื่องการทำสัญญากับเอกชน ที่สำคัญต้นทุนระหว่างการพาดสายที่มีเพียงหลักร้อย ต้องสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อนำลงท่อใต้ดิน เช่น NT ที่คิดราคาถึงหลักพันต่อเดือน ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว โครงการก็ต้องเป็นไปตามที่การไฟฟ้าฯที่เขามีงบประมาณอยู่แล้ว และเป็นภาคบังคับที่ต้องหักเสาไฟนำลงดิน ทำให้สายสื่อสารที่พาดอยู่ต้องลงท่อตามไปด้วย

          อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า การจัดระเบียบสายสื่อสาร สามารถทำได้ ภายใต้แนวคิด การใช้สายร่วมกัน หรือ  Last Mile Concept ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ หากสายสื่อสารของผู้ประกอบการเดิมไม่มีการถูกใช้งานมากกว่า 6 หรือ มากกว่านั้น ผู้ประกอบการรายดังกล่าว ต้องรื้อ ทำลายสายสื่อสารดังกล่าวทิ้งด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง

กสทช.สมภพ ปลดล็อก 3 โจทย์หิน ขับเคลื่อนภารกิจโทรคมนาคมของชาติ

          ห้ามเดินสายใหม่ ต้องเช่าสายจากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตตามประกาศหลักเกณฑ์โครงข่ายสายกระจายสำหรับบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ไปยังผู้บริโภคปลายทาง ซึ่งอัตราค่าบริการให้เช่าใช้โครงข่ายสายกระจายไปถึงผู้บริโภคปลายทางต้องเป็นในลักษณะการคิดคำนวณแบบสะท้อนต้นทุน (cost-based basis)

          ที่สำคัญต้องใช้หลัก สิทธิในการปฏิเสธก่อน (ROFR: Right of First Refusal) ในกรณีที่ไม่มีสายเพื่อให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไปยังผู้บริโภคปลายทาง ผู้ให้บริการจะต้องขอเช่าสายจากผู้รับใบอนุญาตตามประกาศนี้ก่อน ROFR จึงจะสามารถดำเนินการขออนุญาต วางสายใหม่ตาม ROW (Right of Way) ได้

          นี่เป็นเพียง 3 ภารกิจตัวอย่างที่เป็นโจทย์หินที่ กสทช.สมภพ ต้องรีบปลดล็อก เชื่อว่า ยังมีอีกหลายโจทย์ที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งเขาก็เตรียมแผนรับมือและกำลังทยอยเปิดผลงานออกมาเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง