posttoday

21 ต.ค.กสทช.ถกวาระพิเศษ ชี้ขาด "ไทยคม" รักษาวงโคจร

16 ตุลาคม 2567

บอร์ดกสทช.เลื่อนลงมติรับรอง “ไทยคม” ยื่นข้อเสนอขอรับใบอนุญาตดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 3 วงโคจร เผยสำนักงาน กสทช.ยังไม่เสนอรายละเอียดเข้าที่ประชุม นัดเคาะวาระพิเศษ 21 ต.ค.นี้

          ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) วันนี้ (16 ต.ค. 2567) ไม่มีการบรรจุวาระการรับรองและประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต เรื่อง จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 -51  องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ตามที่กำหนดเดิมจะต้องมีการประกาศรับรองวันที่ 17 ต.ค.2567 นี้ หากมติบอร์ดเห็นชอบในวันที่ 16 ต.ค.นี้  ซึ่งบริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอมาเพียงรายเดียว ก็จะสามารถประกาศให้ได้รับใบอนุญาตทันที

          ขณะที่นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า บอร์ดกสทช.ยังไม่เห็นเอกสารและรายละเอียดการยื่นผลตอบแทนและผลประโยชน์ตามที่บริษัทลูกของไทยคมเข้ามารับข้อเสนอการขอใบอนุญาตดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ตำแหน่ง 50.5,51 และ 142 องศาตะวันออก ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ดจึงได้ลงมติกำหนดการประชุมใหม่เป็นวาระพิเศษเรื่องเดียววันที่ 21 ต.ค. 2567 โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 1 ชั่วโมง

          อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 16 ต.ค. 2567 พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจของบอร์ดกสทช.หรือไม่ จึงอยากให้กสทช.ตรวจสอบ เพื่อให้กสทช.เป็นสำนักงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยประธานกสทช.รับทราบถึงความห่วงใย และขอให้สำนักงานรับเรื่องนี้ไปและกลับมาชี้แจงอีกครั้ง ขณะที่ในการประชุมวันดังกล่าว นายไตรรัตน์ ไม่ได้เข้าประชุม เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปดูงานที่อินเดีย

          สำหรับตำแหน่งรองเลขาธิการจะหมดวาระ 5 ปี ในเดือน เม.ย. 2568 แต่กลับมีหนังสือ ลงชื่อคำสั่ง โดย นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการกสทช.ด้านโทรคมนาคม หลุดออกมาจากสำนักงานกสทช.นั่นคือ คำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ เป็นพนักงานประจำไปจนถึงเกษียณ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2567 เพื่อให้มีผลการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป หลังหมดวาระ จากนั้นก็มีหนังสือขอยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามมาติดๆ

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ ประกอบด้วย

          การอนุญาตให้ใช้สิทธิ : อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม โดยจะไม่จัดชุดของข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาอนุญาตสิทธิ และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ

          วิธีการอนุญาต : ใช้วิธีการอนุญาตโดยพิจารณาเปรียบเทียบจากข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ตามเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต 

          เกณฑ์การพิจารณาอนุญาต : (แต่ละรายข้อ ต้องได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50)

1.ความพร้อมในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 40

2.ประสบการณ์ในการประกอบกิจการหรือดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง  กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 25

3.ความสามารถด้านการเงินและข้อเสนอการวางหลักประกันการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 20

4.ข้อเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 15

          ข้อเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ : ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.25

          การรักษาสิทธิ : ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีดาวเทียมเป็นของตัวเองหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อรักษาสิทธิขั้นสมบูรณ์ตลอดระยะเวลาการอนุญาต