posttoday

ธปท. ยันลดดอกเบี้ยไร้แรงกดดันรัฐบาล ส่งสัญญาณชัด ธ.ค.นี้ คงดอกเบี้ย

16 ตุลาคม 2567

ธปท. ยันลดดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.25% ไร้แรงกดดันจากรัฐบาล ส่งสัญญาณชัด ธ.ค. คงดอกเบี้ย โบรกฯ ประเมิน กนง. หั่นดอกเบี้ย หนุนเป้าดัชนีหุ้นไทยปลายปี 67 แตะ 1,510 จุด แต่กระทบราคาหุ้นแบงก์อาจผันผวนได้

          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค.2567 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที 

          โดยคณะกรรมการฯ ให้น้ำหนักหลักๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ และหนี้เครัวเรือน ในบริบทปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเป็นไปตามที่คาด ซึ่งคาดเติบโต 2.7% ในปีนี้ และ 2.9% ในปีหน้า ซึ่งได้รวมเงิน 10,000 บาท เข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ต่างไปจากที่คาดการณ์

          ดังนั้นในรอบนี้จะให้น้ำหนักกับหนี้ครัวเรือน ซึ่งเห็นว่ามีโอกาสที่จะช่วยปรับสมดุลได้บ้างระหว่างภาระหนี้ที่จะลดลงของลูกหนี้กับกระบวนการการลดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP โดยคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงได้จากพัฒนาการของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นในแง่ของอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้มีความจำเป็นต้องช่วยตรงนี้อีกเพิ่มเติม 

          ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ส่งผลต่อการลดภาระหนี้ ช่วยในแง่ของความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ได้มีการดูสมดุลในเรื่องของการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งคิดว่ายังไม่มีความเสี่ยงมากนักในส่วนตรงนี้ 

ธปท. ยันลดดอกเบี้ยไร้แรงกดดันรัฐบาล ส่งสัญญาณชัด ธ.ค.นี้ คงดอกเบี้ย

          “การปรับดอกเบี้ยในครั้งนี้ เราดูเรื่องของการปรับสมดุลการดูแลหนี้ครัวเรือน อยากให้กระบวนการปรับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้สอดคล้องกับรายได้และภาระหนี้ของประชาชน ดังนั้นการพูดคุยกับรัฐบาล มีการพูดคุยกันมาตลอด ไม่ได้เพิ่งจะมาหารือกัน ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน มีการพูดคุย และให้ Input กับทาง ธปท. ในการประมวลภาพ และไม่ได้เป็นแรงกดดันทางด้านการเมือง แต่เป็น Input นึงที่เราก็มาดูว่าข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับการทำนโยบาย ซึ่งเราจะไม่ได้เห็นการลดดอกเบี้ยที่ต่อเนื่อง จะเป็นการลดและก็หยุด เพื่อรอดูข้อมูล” นายสักกะภพ กล่าว 

          ส่วนเรื่องของเป้าหมายเงินเฟ้อจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นการดูแลเงินเฟ้อระยะยาว และดูแลความผันผวนของเงินเฟ้อ ซึ่งหลักๆ มาจากปัจจุยทางด้านอุปทาน และปัจจัยภาบนอก เพราะฉะนั้นกรอบเงินเฟ้อที่ดีจะต้องมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ เงินเฟ้อไม่ควรสูงเกินไป

          ฝ่ายวิจัย บล.เอซีย พลัส ระบุว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง. ลง 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี ตามกลไกมีผลต่อ UPSIDE ของ SET INDEX โดยลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง เป้าหมายปลายปี 2567 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,510 จุด 

          บล.พาย ระบุว่า กนง. ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี ส่งผลต่อกลุ่มธนาคารกระทบทั้งด้านผลการดำเนินงาน (ขึ้นกับกลยุทธ์ของธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก) และจิตวิทยาการลงทุน เพราะส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ลดลง ราคาหุ้นธนาคารอาจผันผวนได้ ตรงกันข้ามกับกลุ่ม Microfinance ได้ประโยชน์ทั้งจิตวิทยาลงทุน และการทำกำไร ทำให้ NIM มีแนวโน้มสูงขึ้นได้ในไตรมาส 4/2567 ส่งผลบวกต่อการเติบโตกำไรดีขึ้น