posttoday

อัพเดทแผน AI แห่งชาติ 2 ปี ผุด OpenThaiGPT –คู่มือจริยธรรมการใช้งานฉบับใหม่

31 ตุลาคม 2567

เผยยอดใช้งานแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทยเดือนละล้านครั้ง ส่งเสริมสตาร์ทอัพดันนวัตกรรม AI สู่ 50 ต้นแบบผลิตภัณฑ์ รวบรวมข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์มากกว่า 1.6 ล้านภาพ เพื่อประโยชน์ทางการรักษา

          เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลก โดยได้รับความคาดหมายในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกในยุคใหม่ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างเร่งพัฒนา AI ของตนเองอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว จนนำไปสู่ AI ที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ (Artificial General Intelligence) 

          อย่างไรก็ตามการขาดธรรมาภิบาลในการพัฒนาและใช้งาน AI อาจนำมาซึ่งความท้าทายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม การใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน การละเมิดความเป็นส่วนตัว ตลอดจนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น 

          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมรับมือผ่าน "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2565 

          ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ อยู่ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

เปิดผลงาน 2 ปี AI กระตุ้นการใช้งานทุกภาคส่วน

          ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 

          ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร พร้อมเครื่องมือประเมินด้าน AI อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศเพื่อร่วมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการกำกับดูแล AI ในระดับสากลเพื่อนำมาเตรียมความพร้อมด้านจริยธรรมและธรรมภิบาล AI ของไทย 

อัพเดทแผน AI แห่งชาติ 2 ปี ผุด OpenThaiGPT –คู่มือจริยธรรมการใช้งานฉบับใหม่ ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสวทช.

          ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย (National AI Service platform) ภายใต้การสนับสนุนของ GDCC มีจำนวนการใช้งานโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านครั้งต่อเดือน รวมทั้งให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน สำหรับการวิจัยด้าน AI ของภาครัฐและเอกชน ด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแผน

เราสามารถสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาดด้วยการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก AI มากกว่า 50 ต้นแบบผลิตภัณฑ์ 

          ส่วนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการนำ AI เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรขนาดใหญ่ เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 6 แสนคน มีหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ 220 หน่วยงาน ครอบคลุม 17 จังหวัดทั่วประเทศ 

          นอกจากนี้ยังมีจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ Medical AI Consortium เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Medical AI Data Sharing) ในปัจจุบันมีข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์มากกว่า 1.6 ล้านภาพ

เกิดแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย

          ขณะที่ ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันได้ส่งมอบแพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้าน AI ของประเทศ และแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ ในฐานะแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ GDCC และหน่วยงานพันธมิตร

          ปัจจุบันให้บริการ API มากกว่า 60 รายการ ครอบคลุมการประมวลผลภาษาไทย ทั้งด้านภาพ เสียง และข้อความ และมียอดการใช้งานสะสม 53 ล้านครั้ง 

          นอกจากนี้เนคเทคและพันธมิตรยังร่วมพัฒนา ‘OpenThaiGPT’ แบบจำลองภาษาไทยขนาดใหญ่ (Large Language Model) ในรูปแบบโมเดลพื้นฐานแบบโอเพนซอร์ส (Open-source Foundation Model) ที่ตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลภาษาไทย 

          ขณะนี้ มี 5 หน่วยงานทดลองนำระบบไปประยุกต์ใช้งาน (Proof of Concept) ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และกรมสรรพากร และเป็นโมเดลพื้นฐานของการเปิดตัว 22 บริการใหม่บน AI for Thai (www.aiforthai.co.th) 

          ไฮไลท์ คือ “ปทุมมา LLM” Generative AI ที่สามารถประมวลข้อมูลภาษาไทยได้หลากหลายทั้งรูปภาพ เสียง และข้อความ ถามตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถบรรยายรูป  ถอดและบรรยายเสียง วิเคราะห์อารมณ์ผู้พูด ถามตอบจากเสียง อีกทั้งยังสามารถเข้าใจและสรุปสาระสำคัญของเอกสารราชการ หรืองานวิจัยได้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถพูดคุยตอบโต้หรือตั้งคำถามกับเอกสารที่กำหนดได้อย่างเป็นธรรมชาติ 

ผุดไกด์ไลน์ใหม่ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล

          ด้านกระทรวงดีอี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center หรือ AIGC) เดินหน้าพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นการต่อยอด AI Governance Guideline ของไทย สู่การออกประกาศ Guideline ใหม่ “แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมาย โดยเนื้อหา ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจ Gen AI, ประโยชน์และข้อจำกัด, ความเสี่ยง, และแนวทาง การประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาล

          ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า แผน AI แห่งชาติ การกำหนดในมิติของการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI ในทุกมิติที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรที่สนใจ สามารถนำไปช่วยกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้ งาน Generative AI ภายในองค์กรได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล 

อัพเดทแผน AI แห่งชาติ 2 ปี ผุด OpenThaiGPT –คู่มือจริยธรรมการใช้งานฉบับใหม่

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี

          แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ของการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประยุกต์ใช้ Generative AI ที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำพาองค์กรในประเทศไปสู่การใช้ เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ 

          พร้อมทั้งช่วยยกระดับความพร้อมในทุกภาคส่วนจาก การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงถึงความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลที่มีนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องดังกล่าว ที่จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับสากลต่อไป

          ด้าน ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า คู่มือฉบับนี้ถูกต่อยอดขยายผลมาจากเล่มแรก อย่าง "แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กร" (AI Governance Guideline for Executives) ที่พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ AIGC โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาและตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานสากล ที่จะเป็นแนวทางให้องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

อัพเดทแผน AI แห่งชาติ 2 ปี ผุด OpenThaiGPT –คู่มือจริยธรรมการใช้งานฉบับใหม่ ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA

เนื้อหาคู่มือประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 

          1. การทำความเข้าใจ Generative AI ที่จะช่วยปูความเข้าใจพื้นฐานให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในองค์กรได้เข้าใจ หลักการที่สอดคล้องกัน ทั้งในมุมของคำนิยาม ความหมายและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง 

          2.ประโยชน์และข้อจำกัด Generative AI ที่จะฉายภาพให้เห็นในมุมของการนำไปใช้งานได้จริง พร้อมด้วย Use case ที่น่าสนใจ 

          3.ความเสี่ยงของ Generative AI เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงของ Generative AI พร้อมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานจริงขององค์กร 

          4.แนวทางการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง และรูปแบบของการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร 

          5.ข้อพิจารณาสำหรับการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลที่มุ่งเน้นให้องค์กรสามารถ สร้างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจาก Generative AI ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม