posttoday

ธ.ก.ส. โอนเงินไร่ละ 1 พันช่วยชาวนา 4.61 ล้านครัวเรือนวันแรก ฉลุย เช็ควันโอนรอบต่อไปที่นี่

16 ธันวาคม 2567

จุลพันธ์ เผย ธ.ก.ส. โอนเงินไร่ละ 1 พันบาท กลุ่มแรก 17 จังหวัด 9.57 แสนครัวเรือน เม็ดเงินกว่า 7 พันล้านบาท ราบรื่น พรุ่งนี้เตรียมโอนเงินอีก 18 จังหวัด 2.96 แสนครัวเรือน กว่า 2,600 ล้านบาท แจงการปรับเกณฑ์เหลือไร่ละ 1 พัน เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (16 ธ.ค.)  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้เป็นประธานกิจกรรม “โอนเงินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68” ในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยมี  นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารระดับสูง และเกษตรกร ร่วมเป็นสักขีพยาน 

นายจุลพันธ์ ระบุว่า วันนี้ธ.ก.ส.ได้มีการโอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ เป็นวันแรก มีเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 37,414 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว และสนับสนุนให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้มากขึ้น 
 

สำหรับในปีนี้ ธ.ก.ส.ได้ปรับเงื่อนไขโครงการ มาเป็นไร่ละ 1,000 ไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่า โครงการนี้ ฯ มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ราว 4 ล้านราย มีสัดส่วนเกิน 70% เป็นกลุ่มที่มีพื้นที่เพาะปลูกต่ำกว่า 10 ไร่ ดังนั้นในการลดช่องว่างดังกล่าวจะช่วยลดช่องหว่างความเหลื่อมล้ำ ระหว่างฐานะลงได้ จึงมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการลงมาเป็น10 ไร่ ถือว่ามีความเหมาะสม และหลังจากที่ได้ดำเนินการมาได้เห็นถึงภาระงบประมาณที่ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มคนจำนวนมากในหลายจังหวัดภาคเหนือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่มากอาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ที่มีพื้นที่พบปลูกไม่เกิน 10 ไร่หรือ 10 ไร่ต้นๆ และมีเพียงภาคเหนือตอนล่างบางส่วน ที่มีพื้นที่มาก กว่า 10 ไร่จึง อาจทำให้รายได้ลดลงบ้าง

ทั้งนี้ ในการโอนเงินให้กับเกษตรกรนั้น ธ.ก.ส.ได้มีการโอนเงินไปตั้งแต่เมื่อช่วงเที่ยงคืนนี้ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาในการโอนเงินประมาณ 1 ชั่วโมง เม็ดเงินประมาณกว่า 7 พันล้านบาท ขณะที่ในวันพรุ่งนี้(17ธ.ค.67) จะมีโอนเงินให้กับเกษตรกรอีกกว่า 2,600 ล้านบาท และในวันถัดไป จะเป็นกลุ่มภาคอีสานตอนบนอีกกว่า 1.08 หมื่นล้านบาท และอีสานตอนล่าง รวมถึงภาคใต้ ซึ่งจะครบ 3.7 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 5 วัน 

โดยการโอนเงินให้เกษตรกรภาพรวมถือว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีติดขัดบ้างเล็กน้อย แต่ทางสาขาจะเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรเป็นรายบุคคลแล้ว

ส่วนกรณีที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลเพิ่มเม็ดเงินช่วยเหลือเป็นไร่ละ 2,000 บาทนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า รัฐบาลยังไม่แนวโน้มที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกรเพราะการทำงานของรัฐบาลต้องดูองค์ประกอบให้ครบถ้วนทุกมิติ จึงจะสามารถตัดสินใจได้  ทั้งเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการปรับเปลี่ยนหลักการของโครงการนี้ โดยการลดจำนวนไร่ลง เนื่องจากรัฐบาลจะต้องนำเงินไปใช้ในโครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ด้วยใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ตนไม่ได้พูดเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลได้ทำภารกิจหลายอย่างคู่ขนานกัน ทั้งการเติมเงินไร่ละ 1000 บาท โครงการเติมเงิน 10,000 บาท โครงการ Wallet หรือโครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทำให้เม็ดเงินที่จะส่งถึงมือพี่น้องประชาชนมีหลายมิติรวมถึงเรื่องของการแก้ไขหนี้สินที่รัฐบาลได้เดินหน้าอยู่ในขณะนี้ ขอให้ประชาชนเร่งลงทะเบียนและติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้ เนื่องจากปัญหาของประชาชนมึหลายด้าน จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าแก้ไขในทุกมิติ เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชนให้มากที่สุด 

โดยวางแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกรเป็นรายภูมิภาค จำนวน 5 รอบ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ธันวาคม 2567 โดยรายละเอียดการโอนเงินให้เกษตรกร มีดังนี้

รอบที่ 1 วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด 9.57แสนครัวเรือน วงเงิน 7,302 ล้านบาท 

รอบที่ 2 วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 18 จังหวัด 2.96 แสนครัวเรือน วงเงิน 2,690 ล้านบาท 

รอบที่ 3 วันพุธที่18 ธันวาคม 2567 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จำนวน 12 จังหวัด 1.37ล้านครัวเรือน วงเงิน 10,800 ล้านบาท 

รอบที่ 4 วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 8 จังหวัด 1.40 ล้านครัวเรือน วงเงิน 11,822 ล้านบาท 

รอบที่ 5 วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 22 จังหวัด 1.56 แสนครัวเรือน วงเงิน 1,303 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมงหรือข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชี ผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ