posttoday

สถาบันบิ๊ก ดาต้า กางแผนปี 68 ปั้น AI ประเทศ ดันเศรษฐกิจพันล้าน

20 ธันวาคม 2567

สถาบันบิ๊ก ดาต้า รับลูกรัฐ สร้างแพลตฟอร์มบิ๊ก ดาต้าประเทศ เดินหน้าปั้น AI ประเทศ ชูจุดเด่นข้อมูลลึก ตั้งเป้า 3 ปี ดันมูลค่าเศรษฐกิจพันล้าน เพิ่มบุคลากรหมื่นราย

KEY

POINTS

  • สร้างแพลตฟอร์มบิ๊ก ดาต้าประเทศ 
  • เดินหน้าปั้น AI ประเทศ ชูจุดเด่นข้อมูลลึก
  • ดันมูลค่าเศรษฐกิจพันล้าน เพิ่มบุคลากรบิ๊ก ดาต้า หมื่นราย

รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เปิดเผยว่า BDI พร้อมตอบรับนโยบายรัฐ เรื่องการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีแผนจัดทำโครงการแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ (National Big Data Platform) โดยในปีงบประมาณ 2569 BDI ได้รับงบประมาณ 100 ล้านบาท ในการดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2568 จากนั้นจะต่อยอดข้อมูลภายในปี 2569 และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในปี 2570

ระยะแรกจะเป็นการศึกษาปัจจัยที่สำคัญเบื้องต้น ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี ปูพื้นฐานสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง  การออกแบบโครงสร้างต้นแบบระบบคลาวด์ การศึกษาและทดสอบกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล ต้นแบบด้านการรักษาความปลอดภัยและการให้บริการข้อมูล ด้านข้อมูล/ชุดข้อมูล นำเข้าตัวอย่างข้อมูล/ชุดข้อมูล ที่่มาจากโครงการรายอุตสาหกรรม 

รวมถึงต้นแบบการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล ด้านการใช้ประโยชน์ข้อมูล จะมีการพัฒนาแดชบอร์ด โมเดลต้นแบบการวิเคราะห์ และโมเดล Machine Learning รวมถึงการจัดกิจกรรม Data Hackathon และการอบรมการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากชุดข้อมูลที่จัดเก็บ เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อรัฐบาลมีระบบกลางด้านข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถใช้งานสำหรับการบริหารจัดการภาครัฐ เกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ข้ามหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันภายใต้หัวข้อปัญหาเดียวกัน ได้โดยสะดวกและปลอดภัย นำไปสู่การต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในวงกว้างในอนาคต

นอกจากนี้ BDI จะเดินหน้าโครงการ Thai Large Language Model (ThaiLLM) หรือ การสร้างแพลตฟอร์ม AI ของประเทศไทย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้งบประมาณ 88.7 ล้านบาท เริ่มโครงการก.พ. 2568- ก.พ. 2569 เพื่อพัฒนาและต่อยอดโมเดลด้วยข้อมูลภาษาไทยจำนวนมหาศาล ให้โมเดลมีความสามารถในการเข้าใจภาษาไทยได้ดี จุดเด่นเมื่อเทียบกับแอปของต่างชาติ คือ BDI จะมีข้อมูลที่ลึกกว่าไม่ได้หาแค่เพียงข้อมูลในโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากสำนักข่าว ข้อมูลจากงานวิจัยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย เป็นต้น 

ปัจจุบัน BDI และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกันพัฒนา 

ThaiLLM V.1 ระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโมเดลพื้นฐานสำหรับต่อยอด (Foundation Model) และโมเดลเฉพาะทางด้านการแพทย์ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI ที่มีศักยภาพและเพิ่มประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

ในระยะ 3 ปี หลังจากนี้ 2568-2570  BDI พร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data และ AI โดยในปี 2568 ตั้งเป้าสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกว่า 1,000 ล้านบาท และเพิ่มโอกาสการจ้างงานบุคลากรในตลาด Big Data กว่า 10,000 ราย 

ปี 2568 BDI ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขยายผลการใช้งานแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) มุ่งเน้นการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงระบบข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Envi Link) เร่งเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (Travel Link) ขยายการดำเนินงานระยะที่ 2 ไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวหลักเพิ่มขึ้น โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเมือง (CDP-Smart Data Analytics Platform) รุกสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 พื้นที่ ได้แก่ น่าน อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี สงขลาและนครศรีธรรมราช

ด้าน นพ.ธนกฤต จินตวร First Executive Vice President กล่าวเสริมว่า โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) ยังคงมุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ โดยในปี 2568 BDI เน้นการขยายการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพหน่วยนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. กว่า 10,000 แห่งให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อสอดรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพครอบคลุมหน่วยบริการในประเทศให้ได้มากที่สุดผ่าน Central Data Exchange Service หรือ คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข  

นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบ Refer Electronics เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยและการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการเพิ่มความสะดวกในการรับบริการให้ประชาชนไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว และเพื่อเพิ่มศักยภาพการเบิกจ่ายกับหน่วยกองทุนสุขภาพ และร่วมกับ สปสช. พัฒนาระบบ AI เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการและเบิกจ่าย ตอนนี้นำร่องการใช้งานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีแผนขยายต่อทั้งประเทศภายในปี 2568  

ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการใช้บริการประชาชนเรายังคงเดินหน้าขยายการส่งข้อมูล Personal Health Record ไปยัง  PHR App ต่างๆ และ Telemedicine ให้มากขึ้น จากการดำเนินงานดังกล่าวเราคาดว่าจะสนับสนุนการดำเนินการบริการสาธารณสุขของประเทศให้มีประสิทธิภาพและสอดรับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน