รัฐตั้งเป้าปี 74 เชื่อมโยงระบบรางไทยผ่านภาคอีสานไปจีนแบบไร้รอยต่อ
รมว.คมนาคม ตั้งเป้าปี 74 เชื่อมโยงระบบรางไทยผ่านภาคอีสานไปจีนแบบไร้รอยต่อ - พร้อมพัฒนาถนน-สนามบินเชื่อมไทย-เชื่อมโลกยกระดับรายได้คนอีสาน-ปชช.ทั้งประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม กล่าวในการสัมมนา ''ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก'' ถึง ''อนาคตประเทศไทย: อีสานเชื่อมโลก'' ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยได้ยกตัวอย่างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ในการเชื่อมอีสานสู่โลก เช่น โครงการรถไฟทางคู่ในแนวเหนือ-ใต้ภาคอีสาน จากกรุงเทพฯ เชื่อมถึงบริเวณชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทาง และการขนส่ง ทั้งคน และสินค้า จะสามารถเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ และ EEC ไปยัง สปป.ลาว และจีนได้ ผ่านเส้นทางในภาคอีสาน
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟทางคู่สายใหม่ในแนวตะวันตก และตะวันออกอีสาน เพื่อเชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม ไปสู่จีน รวมถึงยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงสู่ประเทศจีนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น มูลค่าการลงทุนกว่า 500,000 ล้านบาท โดยแบ่งการพัฒนา 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก กรุงเทพฯ ไปเชื่อมโยงรถไฟเวียงจันทร์-จีน ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งรัดโครงการเพื่อให้สามารถใช้บริการได้ในปี 2571
ช่วงที่ 2 จากนครราชสีมาไปยังหนองคาย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการอนุมัติโครงการ โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2574 และช่วงที่ 3 ในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมโยงรถไฟ สปป.ลาว-จีน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ และเจรจาร่วมกับ สปป.ลาว-จีน โดยคาดว่า จะสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2574 โดยจะเป็นการเชื่อมต่อระบบรางไทย-จีน อย่างไร้รอยต่อ
นายสุริยะ ยังมั่นใจว่า เมื่อมีการเชื่อมต่อทางรางแล้ว พื้นที่สถานีทุกจุดที่รถไฟผ่านตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งนครราชสีมา, ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอสถานี และสร้างเมืองให้รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยวสะดวก และสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เมืองพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ส่วนการพัฒนาถนนนั้น นายสุริยะ ระบุว่า ที่ผ่านมามีการพัฒนามอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา โดยจะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังนครราชสีมา จะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง รวมถึงรัฐบาลยังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ที่บึงกาฬ-บอลิคำไซ เพื่อให้รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไปยัง สปป.ลาว และเวียดนาม ไปสู่จีนตอนใต้อย่างสะดวก โดยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปีหน้านี้ เป็นต้น
นายสุริยะ ยังเปิดเผยถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินว่า รัฐบาลได้เพิ่มขีดความสามารถสนามบินอีสานในการรองรับผู้โดยสารให้มากขึ้น เช่น การก่อสร้างสนามบินบุรีรัมย์ ที่พัฒนาอาคารรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และขยายลานจอดให้สามารถรองรับเครื่องบินได้ 11 ลำ/ชั่วโมง โดยจะเปิดให้บริการในปีหน้า เป็นต้น พร้อมยังยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อเชื่อมไทย และเชื่อมโลก เพื่อทำให้อีสานดีขึ้นกว่าเดิม และยกระดับรายได้ใหักับประชาชนในภาคอีสานของประเทศ