1 เดือนรู้ผลเอาผิดแอปกู้เงิน OPPO- Realme เข้มเอกชน แจงลงแอปก่อนจำหน่าย
กระทรวงดีอี คุมเข้ม แอปมือถือ เอกชนต้องแจ้งก่อนจำหน่าย แนะ 10 ไกด์ไลน์ แอปแบบไหนควรลง ไม่ควรลง ขีดเส้น 1 เดือน หาข้อสรุปเอาผิด ออปโป้-เรียลมี เผยแค่ออปโป้ มีเครื่องใช้ในไทย 4 ล้านเครื่องถูกโหลดแอปกู้เงินโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวว่า วันนี้ (20 ม.ค. 2568) กระทรวงได้เชิญตัวแทนแบรนด์มือถือ ตัวแทนจำหน่าย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้บริการระบบปฏิบัติการ และ มาร์เก็ต เพลส จำนวน 28 บริษัท
อาทิ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO, บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme, บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัท โซนี่ ไทย จำกัด
การประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจ้งภาคเอกชน ให้ป้องกันไม่ให้มีการลงแอปพลิเคชันผิดฎหมาย ที่จะกระทบสิทธิผู้บริโภค โดยชี้แจ้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่างๆ ทั้ง กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ กฎหมายการเงิน ฯลฯ เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้ออุปกรณ์มาใช้งาน โดยที่ประชุมได้มีการออกข้อแนะนำหรือไกดไลน์ 10 ข้อ เพื่อขอความร่วมมือกับผู้ผลิตและจำหน่ายมือถือปฎิบัติตามในการใช้ลงแอปล่วงหน้า
ไกด์ไลน์การลงแอปบนโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือในการแสดงรายชื่อแอปที่ลงล่วงหน้าของเครื่องนั้นๆว่ามีแอปอะไรบ้างตอนที่ขออนุญาตนำเครื่องเข้าจำหน่ายในประเทศไทยกับทาง สำนักงาน กสทช. ในระหว่างที่ที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม โดยให้เริ่มดำเนินการได้ทันที เพราะผู้ให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดด้วยหากพบว่าแอปที่ลงในเครื่องทำให้ประชาชนเดือดร้อน ก็จะมีความผิดตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ด้าน พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สคส. กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานจากออปโป้ และเรียลมีที่มีการติดตั้งแอป ชื่อ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ มีประมาณ 4 ล้านเครื่องในไทย ซึ่งทั้งสองบริษัทได้แจ้งยุติการติดตั้งทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือ และได้ทยอยส่ง โอทีเอ ให้ลูกค้าเพื่อลบแอปได้เองแล้ว สำหรับผู้เสียหายที่ได้เข้ามาร้องกับ สคส. จำนวน 11 ราย และ ร้องกับ สคบ. 17 ราย รวมมีการร้องเรียนแล้ว 28 ราย โดยในส่วนของ สคศ.จะมีการสอบสวนผู้เสียหายก่อนที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พิจารณาลงโทษทางปกครองภายใน 1 เดือน
ขณะที่นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงาน สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในวันที่ 21 ม.ค. เวลา 9.00 น.ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จะนำผู้เสียหายบางส่วน ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนผู้กระทบความผิดในกรณีนี้ ว่าจะต้องมีผู้ใดต้องรับผิดชอบที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้
พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า สำหรับ 10 ไกด์ไลน์ ข้อเสนอแนะ และแนวทางการติดตั้งแอปพลิเคชันล่วงหน้าผู้ผลิต/จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ (Pre-Installed Apps Policy) หรือ Bloatware ประกอบด้วย
1.ผู้ผลิตควรมี หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแอปพลิเคชัน ที่ติดตั้งล่วงหน้าโดยต้องเป็นแอปที่จำเป็นต่อการใช้งานและไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
2.เปิดทางเลือกให้ผู้ใช้งานสามารถหรือปิดใช้งาน Bloatware ถอนการติดตั้ง (Uninstall) หรือปิดใช้งาน (Disable) แอปที่ไม่จำเป็นได้
3.ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ หากติดตั้งแอปของบุคคลที่ 3 ล่วงหน้า ต้องมีการตรวจสอบช่องโหว่ (Vulnerability Assessment) และทดสอบความปลอดภัย (Penetration Testing) อย่างสม่ำเสมอ
4.ควรหลีกเลี่ยงแอปที่มีพฤติกรรมสอดแนม (Spyware) หรือแอปที่อาจเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้โดยไม่จำเป็น
5.มีนโยบายอัปเดตความปลอดภัยสำหรับ Bloatware และระบบปฏิบัติการ โดยผู้ผลิตควรให้คำมั่นสัญญา ว่าจะอัปเดตซอฟต์แวร์ (Security Updates) อย่างสม่ำเสมอ
6.หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปของบุคคลที่ 3 ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เช่น แอปโฆษณาแอปเกม และ เพื่อเตรียมการในอนาคต อาจมีการพิจารณากระบวนการรับรองความปลอดภัยของแอป (App Security Certification) ก่อนให้ผู้ผลิตติดตั้งบนอุปกรณ์ที่จำหน่ายในไทย
7.ให้คำแนะนำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันความเสี่ยงจาก Bloatware
8.การให้สิทธิ์แก่ผู้ใช้ในการเข้าควบคุมแอปพลิเคชัน โดยผู้ใช้ต้องสามารถเลือกเปิดหรือปิดฟีเจอร์บางอย่างของแอปที่ติดตั้งล่วงหน้าได้
9. การจำกัดการทำงานของแอปพลิเคชันในพื้นหลัง ต้องไม่มีแอปที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโดยไม่จำเป็น หรือใช้พลังงานแบตเตอรีมากเกินไป
10. ข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวของแอปพลิเคชัน (Privacy Compliance) ต้องมีตัวเลือกให้ ผู้ใช้สามารถดูและจัดการข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้และห้ามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ภายนอก โดยไม่ได้รับความยินยอม