รัฐบาล มองข้ามช็อต "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" เปิด 3 ตัวเต็งนั่ง เก้าอี้ผู้ว่าฯ
จับตา 3 ตัวเต็ง นั่งเก้าอี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนต่อไป แทน “เศรษฐพุฒิ” “สุทธาภา อมรวิวัฒน์” โปรไฟล์เข้าตารัฐบาลเพื่อไทย
แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้ตีตกให้นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(บอร์ดแบงก์ชาติ) เหตุเพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา แต่จนขณะนี้การคัดเลือกตัวประธานบอร์ดก็ยังไม่คืบหน้า ไร้วี่แววแคนดิเดตคนใหม่ ทำให้ช่วงเวลาที่ไม่มีประธานบอร์ดทำหน้าที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติในฐานะรองประธานต้องรักษาการประธานบอร์ดไปก่อนจนกว่ากระบวนการคัดเลือกจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า จากปมกฤษฎีกาตีความคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ เอี่ยวการเมืองจนตกเก้าอี้ประธานฯ ทำให้การสรรหาคนใหม่เข้าคัดเลือกทำได้ยากขึ้น เพราะนอกจากต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว ต้องไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง ทำให้คนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งนี้จะต้องถูกตรวจสอบมากขึ้น และต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง แม้กระทั่งคณะกรรมการชุดต่างๆ จึงทำให้การคัดเลือกครั้งนี้ต้องล่าช้า จนเกิดสุญญกาศ ไร้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของรัฐบาลในห้วงเวลานี้ เชื่อว่าโจทย์ใหม่ได้มองข้ามช็อตประธานบอร์ดแบงก์ชาติไปแล้ว และได้เบนเข็มไปที่เก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะนอกจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯธปท.คนปัจจุบัน จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีในวันที่ 30 ก.ย.2568 ซึ่งนับถอยหลังก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว
ตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ มีความสำคัญ ใช่เพียงหน้าที่ในกำกับดูแลนโยบาย และบริหารองค์กร เพื่อรักษาสเถียรภาพ และความมั่นคงทางการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นตำแหน่งที่เป็นหมุดหมายรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการคนมีแนวทางในสนับสนุนนโยบายภาครัฐ เห็นได้จากที่ผ่านมาว่าแบงก์ชาติมีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาลในหลายนโยบายเศรษฐกิจ อาทิ ดอกเบี้ย กรอบเงินเฟ้อ ไปจนถึงนโยบายการแจกเงินหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ตำแหน่งประธานบอร์ดมีหน้าที่ให้การพิจารณา หรือให้ความเห็นการทำงานของผู้ว่าฯ และมีส่วนในการพิจารณาตำแหน่งงานภายในตามกฎหมายกำหนด แต่ไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงิน เช่น เคาะดอกเบี้ย หรือคัดเลือกผู้ว่าฯได้
สำหรับกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดว่ากระทรวงการคลังต้องจัดตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อเสนอชื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนผู้ว่าฯคนปัจจุบันครบวาระภายใน 90 วัน
แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะดำเนินกระบวนการก่อนกำหนดไม่ได้ ทั้งนี้อาจได้ตัวผู้ว่าฯคนใหม่ก่อนกลางปีนี้ก็ทำได้ เห็นได้จากเริ่มปรากฎการณ์ปล่อยรายชื่อบุคคลที่น่าจับตาให้เป็นแคนดิเดตผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป ซึ่งทั้ง 3 ท่านล้วนมีดีกรีระดับดร.
คนแรกคือ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ คนนี้มีชื่อติดโผมาอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนมาดูประวัติการศึกษา และเส้นทางการทำงาน ดร.เอกนิติ จบปริญญาเอกจากแคลร์มอนต์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากอิลลินอยส์ ยังมีดีกรีเป็นอธิบดีมาแล้วถึง 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งทั้ง 3 กรมถือได้ว่าเป็นกรมเกรดA ของกระทรวงการคลัง
คนที่ 2 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน คนนี้พูดได้ว่ามีดีเอ็นเอแบงก์ชาติอย่างเต็มตัว จบเอกเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง และเข้ายากแห่งหนึ่งในสหรัฐ และระดับปริญาตรีเศรษฐศาสตร์จาก Harvard ผ่านงานทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงิน ว่ากันว่าได้ถูกวางตัวจากนายเศรษพุฒให้เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป มีการเติบโตในสายงานธปท.ได้อย่างรวดเร็ว เริ่มเป็นที่รู้จักจากนักเศรษฐกร และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ และเคยเป็นบอร์ดกนง.อีกด้วย
คนสุดท้าย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ เป็นชื่อมาแรงที่สุดในขณะนี้ ยังมีนามสกุลคุ้นหู เพราะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังคนปัจจุบัน เป็นบุตรสาวของพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นพี่ชายบิดาของนายจุลพันธ์นั่นเอง
ดร.สุทธาภา มีทั้งประวัติการศึกษา และเส้นทางการทำงานไม่เบา มีดีกรีโดดเด่นไม่แพ้ใคร สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์จาก MIT จบปริญาตรีปริญาตรีคณิตศาสตร์ จากHarvard เริ่มต้นจากทำงานที่สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เคยทำงานIMF เคยเป็นหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ความเสี่ยง นั่งแทนผู้บริหารงานธนาคารชั้นนำของไทย และยังเป็นผู้ก่อตั้ง บ.อบาคัส ดิจิทัล ถือเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่บุกเบิกการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลโดยขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
ดร.สุทธาภา ถือว่าเป็นบุคคลที่น่าจับตา หลายสื่อโปรโมทว่าจะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป นอกจากมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังผลงานวิสัยทัศน์ด้าน AI และผ่านการบริหารความเสี่ยง ทำธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งสอดรับนโยบายนายใหญ่ ที่ต้องการเดินหน้านำประเทศเข้าสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ล่าสุดประกาศผลักดัน ภูเก็ต Sandbox ใช้คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ชำระสินค้าแทนเงินสด
จากนามสกุล “อมรวิวัฒน์” ทำให้คนนำไปเชื่อมโยงความเป็นเครือญาติกับคนในพรรครัฐบาล และยังพบส.ส.ในพรรคเพื่อไทยพยายามโปรโมท เพื่อผลักดัน สร้างบทบาทให้เธอ จนเป็นปรากฎการณ์ให้พูดถึงอย่างวงกว้างในขณะนี้ ซึ่งต้องจับตาว่าสุดท้ายแล้วคนที่ใกล้ชิด ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจะเข้ามาคุมบังเหียน “ธนาคารชาติ” จริงหรือไม่