posttoday

"ทรัมป์ 2.0" ท้าทายเศรษฐกิจโลก เน้นจัดพอร์ต "ตราสารหนี้-หุ้น" ลดเสี่ยง

21 มกราคม 2568

"ชวินดา หาญรัตนกูล" KTAM มองเศรษฐกิจโลกปี 2568 ขยายตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญความท้าทายจากนโยบายสหรัฐฯกดดันลงทุน แนะจัดพอร์ตลงทุน "ตราสารหนี้-หุ้น"อย่างสมดุล พร้อมชี้ช่องลงทุนหุ้นต่างประเทศ เน้นธีม Tech และ AI

KEY

POINTS

  • "ชวินดา หาญรัตนกูล" มองเศรษฐกิจโลกปี 2568 ขยายตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญความท้าทายจากนโยบายสหรัฐฯ
  • KTAM แนะจัดพอร์ตลงทุน "ตราสารหนี้-หุ้น"อย่างสมดุล
  • ชี้ช่องลงทุนหุ้นต่างประเทศ เน้นธีม Tech และ AI 

เศรษฐกิจโลกปี 2568 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนทั่วโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะโดดเด่นขึ้น เปรียบเทียบจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ ถึงแม้ความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายยังคงอยู่ในระดับที่สูงก็ตาม

ส่วนการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯอาจชะลอลงในปีนี้จากการขึ้นอัตราภาษี และอาจเพิ่มขึ้นในปี 2569 หากมีการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ขณะที่จีนอาจจะมีการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้แรงกดดันจากภายนอก ทำให้หลายประเทศอาจดำเนินนโยบายการคลังที่รัดเข็มขัดขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินจากภาครัฐอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้มากนัก 

ขณะที่ธนาคารกลางในประเทศที่สำคัญๆ อาจจะมีการปรัดลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอลง แต่ความเร็วในการลดดอกเบี้ยจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

"ชวินดา หาญรัตนกูล" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM กล่าวว่า การจัดพอร์ตต้องเน้นความสมดุลมากขึ้นระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ และหุ้น โดยมองโอกาสและปัจจัยที่สำคัญใน "ตลาดตราสารหนี้" โดยธนาคารกลางหลักๆของโลกอาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง รวมถึงตลาดตราสารหนี้ยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยแกว่งตัวระหว่าง “ความหวัง” ของนักลงทุน และ “การดำเนินการ” ของผู้ดำเนินนโยบาย 

โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยยังไม่ได้สูงเหมือนในต่างประเทศ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความอ่อนแอในประเทศ และความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อประเทศไทยทั้งทางตรงผ่านการส่งออก และทางอ้อมผ่านการอ่อนตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าของไทย ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และเงินเฟ้อที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจเปิดทางให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลงได้ 2 ครั้งในปีนี้ 

ตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางดอกเบี้ยลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน และภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนยังได้รับความท้าทายจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของสงครามการค้า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และความสามารถในการบริโภคที่ด้อยลงจากหนี้ครัวเรือน 

สำหรับ "ตลาดหุ้นต่างประเทศ" แม้ว่าจะมีการสะดุดไปบ้างตามเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปี 2567 ที่ผ่านมา แต่นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่สินทรัพย์เสี่ยงให้ผลตอบแทนที่ดี ในปี 2568 มองว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยธีมการลงทุนใน Tech และ AI ยังคงสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้ดีของรายได้ (Earnings Growth) และคาดว่ายังจะเป็นธีมหลักสำหรับตลาดหุ้นในปีนี้ 

ประกอบกับ "นโยบายของ ทรัมป์ 2.0" คาดว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าในเชิง Valuation หุ้นบางกลุ่มมี Valuation ที่เริ่ม “แพง” มี Forward P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จึงต้องคอยติดตามการประกาศผลประกอบการว่ายังสามารถช่วยสนับสนุนระดับราคาในปัจจุบันได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่องยังจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มการเงิน ถึงแม้การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงมีอยู่ แต่อาจจะช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความต้องการสินเชื่อในอนาคต อีกทั้ง กระแสการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆของ "ทรัมป์" ส่งผลดีต่อธุรกิจกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน


ถอดบทเรียน "วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์" พลิกธุรกิจเก่า สู่ "เอ็นเตอร์เทนเมนท์ฯ"

ผ่าอาณาจักรแสนล้าน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" เช็ค! 23 หุ้นรับอานิสงส์

รู้ก่อนซื้อ! อ่านเกมเล่นหุ้น “คอร์เนอร์แตก” แบบนักลงทุนวีไอพันธุ์แท้

ถอดรหัส Trumpflation จาก Trump 1.0 สู่ 2.0