posttoday

“ปานปรีย์” แนะไทยปรับตัวรับมือโลกแบ่งขั้ว เศรษฐกิจผันผวน ยุคทรัมป์ 2.0

21 มกราคม 2568

“ปานปรีย์” แนะไทยปรับตัวรับมือโลกแบ่งขั้ว เศรษฐกิจผันผวน ยุคทรัมป์ 2.0 ชี้ไทยเสี่ยงสูงตกเป็นเป้ามาตรการกำแพงภาษีสหรัฐ เสนอเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐ ขอจำกัดอัตราเพดานภาษี

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ประเทศไทยท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว” ในงานเสวนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 | TRUMP 2.0 : The Global Shake Up ที่จัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า สถานการณ์โลกแบ่งขั้วที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลจากากรแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็นตัวกำหนดฉากทัศน์และทิศทางทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 ทำให้เราต้องเผชิญกับความแตกแยกและผันผวนทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมทั้งระเบียบโลกเก่าที่ถูกบั่นทอนลง 

โดยนับจากวันนี้ไปอีก 4 ปี คงจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสถานการณ์ที่ผันผวน สำหรับประเทศไทยต้องเตรียมปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจมีผลกระทบต่อเรา

ในช่วงเริ่มต้น หรือช่วงการเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ 2.0 สหรัฐอาจทำการทบทวนการดำเนินสัมพันธ์ และพันธกรณีที่มีกับประเทศต่างๆ ซึ่งสหรัฐคงพร้อมยกเลิกหรือเจรจาตกลงกันใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐทั้งอุตสาหกรรมและภาคเอกชน 

ขณะที่มิติความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐกับไทยที่มี่มายาวนาน ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในด้านเศรษฐกิจคงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อไทยมากนัก โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 2.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่ผ่านมา คือ สหรัฐ หรือคิดเป็น 17% ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่จีนเป็นอันดับ 2 คิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด

ที่ผ่านมาสหรัฐเสียดุลการค้าให้กับหลายประเทศ รวมถึงแม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม ไทย และไต้หวัน ในการนี้ ทรัมป์จึงได้ประกาศว่า สหรัฐจะขึ้นกำแพงภาษีกับจีนถึง 60% และประเทศอื่นๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐที่อัตรา 10-20% ซึ่งไทยเองเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงมีความเสี่ยงสูงที่เราจะตกเป็นเป้าของมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐนี้ด้วย

หากมาตรการการขึ้นภาษีดังกล่าวของสหรัฐถูกนำมาใช้จริง จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น อุปสงค์ลดลง และปริมาณการค้าลดลง ไทยและหลายประเทศในอาเซียนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในฐานะที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยจึงต้องติดตามและวางยุทธศาสตร์เพื่อรักษาตลาดการส่งออกของไทยไว้ท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ผันผวนและยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ทางเลือกหนึ่งคือ การเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐ โดยอาจดำเนินการร่วมกับ lobbyists ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อขอจำกัดอัตราเพดานภาษี โดยอาจจัดกลุ่มสินค้าในแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้การส่งออกของเรา ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง เช่น การจัดกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงและเกินดุล กลุ่มสินค้า เกษตร และกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวเร็ว เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ สำหรับการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในของไทยเอง เราอาจต้องเตรียมหามาตรการเยียวยาเกษตรกรไทยที่จะได้รับผลการทบจากการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจในจีนบางรายที่ต้องการหลบเลี่ยงมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมากของสหรัฐด้วยการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่ไทย เพื่อเป็นประเทศผู้ส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐแทน หากมีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นมาก สหรัฐอาจมองว่าผู้ประกอบธุรกิจจีนเหล่านี้ใช้ไทย เป็น backdoor ในการหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าอัตราสูงของสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐใช้มาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด และเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราที่สูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยในภาพรวม

ขณะเดียวกัน นักลงทุนสหรัฐ รวมถึงนักลงทุนชาติอื่นๆ ในไทย ก็อาจจะมองว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ประกอบกับสหรัฐต้องการดึงอุตสหากรรมของตนที่ไปลงทุนในต่างประเทศกลับไปตั้งอยู่ที่สหรัฐ เพื่อสร้างฐานการผลิตภายในประเทศและพึ่งพาต่างประเทศให้น้อยลง ดังนั้น สถานการณ์การลงทุนของต่างชาติในไทยจึงเป็นอีกประเด็นที่เราจะต้องเตรียมแผนการรับมืออย่างรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นที่น่าดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติ

การใช้มาตรการปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐผ่านการใช้กำแพงภาษี อาจทำให้ประเทศที่ตกเป็นเป้าของมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ โดยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าใน ลักษณะต่างตอบแทนเช่นกัน ซึ่งหากสถานการณ์การค้าโลกตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ การส่งของสินค้าของไทยก็จะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีที่ประเทศเหล่านั้นนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เราอาจจะต้องเร่งดำเนินการต่อไปจากนี้ คือ เราจะต้องสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระดับสูงกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญหรือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในระดับนโยบายของสหรัฐ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความ เป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนสหรัฐ ในการผลักดันผลประโยชน์ของไทยและชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายมี ร่วมกัน 

นอกจากนี้ เราจะต้องส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองทางให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยและ ลดความเสี่ยงต่อมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ โดยเราอาจจะต้องยอมซื้อสินค้าหรือบริการจากสหรัฐบางรายการ และส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐให้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ต่อไปนี้การเจรจากับสหรัฐ และรักษาดุลอำนาจของสหรัฐ และจีน จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

การดำเนินนโยบายของไทยในโลกแบ่งขั้ว

ยุคทองของการค้าระหว่างประเทศได้จบลงแล้ว ทรัมป์ 2.0 จะมาพร้อมกับความไม่แน่นอนสูงและคาดการณ์ได้ยาก ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ใหม่ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่ Trade war และ Technology war จะรุนแรงยิ่งขึ้น

ในส่วนของความขัดแย้งและสงครามที่มีอยู่ตามมุมต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล ฮามาส อย่างน้อยก็เป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการประกาศหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เราก็หวังว่าสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งอื่นๆ จะคลี่คลายไปในเร็ววันเช่นกัน 

ในส่วนของที่เป็น hotspots ใกล้บ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ เราก็หวังว่าจะไม่เกิดการปะทุเป็นความรุนแรงถึงขั้นเป็นการขัดกันทางอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่องค์กรสากลระหว่างประเทศหมดความศักดิ์สิทธิ์ไป ไม่ สามารถหยุดยั้งทั้งสงครามการค้า และสงครามที่ใช้อาวุธประหัตประหารกันได้

ยุทธศาสตร์ของไทยท่ามกลางโลกที่แบ่งขั้วและผันผวนเช่นนี้ จึงต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยสามารถรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ให้ได้

“เรานับว่าโชคดีที่ประเทศไทยเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เนื่องจากเราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เราจึงต้องเร่ง กระชับความสัมพันธ์กับทุกขั้วอำนาจอย่างมียุทธศาสตร์ โดยเลือกที่จะดำเนินนโยบายกระจายความเสี่ยงในทุกมิติ ของความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งรวมถึงกลุ่มมหาอำนาจหลักอย่างสหรัฐ กับจีน กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอาเซียน มหาอำนาจที่รองลงมาและประเทศอำนาจขนาดกลางอย่างรัสเซีย สหภาพ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วและที่เป็นตลาดทางเลือก เช่น กลุ่ม BRICS และ GCC โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ (strategic equilibrium) และรักษา สถานะของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง” 

เราจะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยยืดหยุ่นและคำนึงถึงการปฏิบัติได้จริง บนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ โดยยึดหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศ และค่านิยม สากล เป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ ไทยจะต้องใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระดับภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน โดยเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรอง ผ่านประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันและการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจผ่านกลไกต่างๆ ของอาเซียนเพื่อรักษาเสถียรภาพ ไม่ให้อาเซียนกลายเป็นพื้นที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจหรือเป็นเวทีให้ภาคีภายนอกใช้ประโยชน์ในการโจมตีกัน

การที่ไทยไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและมีมิตรจำนวนมาก จะช่วยสร้างอำนาจต่อรอง และทำให้โลกเห็นว่าไทยสามารถเล่นบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มและขั้วอำนาจต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย ทั้งในแง่การทำให้เกิดสภาวะดุลแห่งอำนาจซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพ และสร้างสถานะและ อิทธิพล รวมถึงอำนาจต่อรองในการแสวงหาประโยชน์ในบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระเบียบโลกใหม่ได้ อย่างเต็มที่

ดังนั้น เราจึงต้องมีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลางอย่างมียุทธศาสตร์ ด้วยการรักษาสมดุลของโลกแบ่งขั้วแบ่งค่าย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนใหม่ได้