ส่องเทคโนโลยีในรัฐสภาสหรัฐฯ ความล้าหลังในโลกสมัยใหม่?
ลองนึกภาพรัฐสภาที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก แต่กลับใช้เทคโนโลยีล้าสมัยยิ่งกว่าร้านขายของชำข้างบ้าน ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร?
ลองนึกภาพรัฐสภาที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก แต่กลับใช้เทคโนโลยีล้าสมัยยิ่งกว่าร้านขายของชำข้างบ้าน ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร? สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นสภานิติบัญญัติที่มีอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่หลังบ้านกลับใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐ คนส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่ความเอื่อยเฉื่อยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับความเร็วคล้ายหอยทากเป็นอัมพฤกษ์
แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญของภาครัฐที่มักถูกมองข้ามนั่นคือ ความล้าหลังทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางประสิทธิภาพการทำงาน และความสามารถในการสื่อสารกับประชาชนในยุคดิจิทัล
ความล้าหลังทางเทคโนโลยี ปัญหาที่รอการแก้ไข
สภาคองเกรสขึ้นชื่อเรื่องความเชื่องช้าในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนกับหน่วยงานราชการหลายแห่งที่ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ต้องรอจนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด สภาคองเกรสถึงยอมให้มีการประชุมออนไลน์และเสนอร่างกฎหมายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ภาพที่คุ้นตาในสภาคือการใช้ไวท์บอร์ด กระดาษโน้ต และนักศึกษาฝึกงานถือคลิปบอร์ดวิ่งวุ่นขวักไขว่ไปทั่ว
ในขณะที่โลกก้าวผ่านการปฏิวัติด้านข้อมูลข่าวสาร มีการผสานสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเข้ากับชีวิตประจำวันและการทำงาน แต่เทคโนโลยีเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของรัฐสภาสหรัฐฯ อย่างจำกัด ซึ่งระบบสารสนเทศของรัฐสภาสหรัฐฯ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
เจ้าหน้าที่รัฐสภาทำงานอยู่ในสำนักงานเขตนับพันแห่งทั่วสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการสื่อสารที่ใช้กลับล้าหลังกว่าที่ใช้ในภาคธุรกิจและครัวเรือนทั่วไป และเป็นที่น่าสังเกตว่าสำนักงานเขตของสมาชิกสภาคองเกรสเพิ่งได้รับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในปี 2023 นี้เอง
นอกจากนี้ คำให้การต่อรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2024 พบว่าการประชุมระหว่างสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่บางครั้งต้องจบลงที่ 40 นาที (สิ้นสุดลงก่อนกำหนด) เพราะบางคนยังใช้ Zoom เวอร์ชันฟรี
ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-signatures) เพิ่งจะถูกนำมาใช้ในสภาเมื่อปี 2021 ทั้งๆ ที่รัฐสภาเองเป็นผู้ผ่านกฎหมาย ESIGN Act ที่อนุญาตให้ใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ 20 ปีก่อนหน้านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสถาบันที่มีอำนาจประกาศสงครามและควบคุมงบประมาณแผ่นดิน กลับใช้งบประมาณไปกับด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเพียงปีละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1% ของรายได้จากละครบรอดเวย์เรื่อง Hamilton ที่เปิดการแสดงมาตั้งแต่ปี 2015
ผลกระทบของความล้าหลังทางเทคโนโลยี
ความล้าหลังทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของรัฐสภาในหลายด้าน เช่น
- การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ: การขาดแคลนเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้การประสานงานระหว่างสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ และประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลต่อความล่าช้าในการดำเนินงานต่างๆ
- การเข้าถึงข้อมูลที่จำกัด: ระบบสารสนเทศที่ล้าสมัย ทำให้สมาชิกรัฐสภาเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้อย่างจำกัด ส่งผลต่อการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ
- การมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง: การขาดแคลนช่องทางการสื่อสารแบบดิจิทัล ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการเมือง
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่ของสภาที่เพิ่งผ่านการรับรองเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานของภาครัฐ โดยสนับสนุนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในชีวิตประจำวัน และอนุญาตให้พยานสามารถให้การจากระยะไกลได้
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามอื่นๆ ที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐสภาแต่เป็นเรื่องปกติในภาคธุรกิจ เช่น การพัฒนาระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย และฟีเจอร์การจัดตารางเวลาที่ช่วยลดการทับซ้อนของการประชุม รวมถึงการสร้างสมุดรายชื่อเจ้าหน้าที่แบบดิจิทัล
ในปี 2022 ระบบ 'member-directed spending' หรือที่เคยเรียกว่า 'earmarks' ได้กลับมาใช้ในรัฐสภาอีกครั้ง พร้อมกับการปรับปรุงด้านดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มความโปร่งใส เช่น การเปิดเผยรายการโครงการต่อสาธารณะ การกำหนดกฎจริยธรรม และการใช้เครื่องมือค้นหาเพื่อติดตามการใช้จ่าย
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสภาคองเกรสในการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ การสร้างแอปติดตามธงในช่วงปลายปี 2024 ซึ่งช่วยปรับปรุงโครงการให้ประชาชนรับธงที่เคยโบกสะบัดเหนืออาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ได้อย่างสะดวก แม้เทคโนโลยีนี้จะเทียบได้กับเทคโนโลยีที่ Pizza Hut ใช้ตั้งแต่ปี 2017 ในการติดตามพิซซ่าจากร้านถึงหน้าประตูบ้านลูกค้าก็ตาม
แม้ว่าสภาคองเกรสจะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีหนทางอีกยาวไกลในการพัฒนา เพื่อให้รัฐบาลกลางตอบสนองต่อประชาชนชาวอเมริกันได้ดียิ่งขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่าสภานิติบัญญัติที่ทรงพลังที่สุดในโลกกำลังเริ่มเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีจากภาคธุรกิจอยู่เนืองๆ