พาณิชย์เร่งปิดดีลเจรจาการค้า FTA ไทย-EU ภายในสิ้นปี68
พิชัย รมว.พาณิชย์ นำทีมเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้า FTA ไทย-EU รอบที่ 5 เข้มข้น ณ กรุงบรัสเซลส์ เร่งปิดดีลภายในสิ้นปีนี้
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ผลักดันข้อตกลงทางการค้าเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในตลาดยุโรป และเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชนของไทย
นายพิชัย กล่าวว่า การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปในรอบนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเริ่มหารือเชิงลึกเกี่ยวกับการเปิดตลาดระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการเจรจา กำชับให้ นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถสรุปผลได้ภายในช่วงคริสต์มาสปีนี้ ตามเป้าหมายที่ได้ตกลงไว้กับ นายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA ไทย-EU จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดยุโรป ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความท้าทาย โดยรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ฉบับต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทาง อยากเห็นการเจรจาจบในสิ้นปีนี้ท เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจของไทย
ทั้งนี้ FTA ไทย-EU ถือเป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น การแข่งขันและการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นายพิชัยมั่นใจว่าทีมเจรจาของไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ จะสามารถผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลได้
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐไทยภายใต้รัฐบาลแพทองธารได้แสดงถึงประสิทธิภาพในการเจรจา FTA โดยล่าสุดสามารถบรรลุผลการเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน ได้แล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 และทั้งสองฝ่ายจะลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีของสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและ EU อยู่ที่ 43,532.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.26 จากปี 2566 โดยไทยส่งออกไปยัง EU มูลค่า 24,205.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.23 ขณะที่การนำเข้าจาก EU มีมูลค่า 19,327.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง ร้อยละ 2.16 ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า 4,877.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ