posttoday

ความหมายของ สันโดษ สิ่งที่ได้จากท่าน ว.วชิรเมธี

07 เมษายน 2554

เมื่อวันที่ 18-21 ก.พ. ช่วงวันมาฆบูชาที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 18-21 ก.พ. ช่วงวันมาฆบูชาที่ผ่านมา

ผมถือว่าผมเป็นผู้ที่โชคดีมากที่สุดคนหนึ่งที่ได้รับของขวัญวันมาฆบูชาชิ้นแรกในชีวิต (ทำนองเดียวกับคุณอ้อมที่พูดว่า “อ้อมว่า อ้อมเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุด” ในโฆษณารังนกยี่ห้อหนึ่ง) เพราะได้รับความเมตตาจากผู้บริหารธนาคารเกียรตินาคินให้เข้าร่วมการปฏิบัติธรรม Master of Life กับท่าน ว.วชิรเมธี ที่ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย เป็นเวลา 4 วัน โดยได้รับความเมตตาจากท่านจ้อย จากสวนโมกขพลาราม ร่วมให้ข้อคิดและแนวปฏิบัติของการเจริญสติเพื่ออยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่ได้รับจากความเมตตาของท่าน ว.วชิรเมธี และท่านจ้อย นอกจากแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้จริงแล้ว ยังได้แนวคิดที่น่าสนใจมากๆ เช่น

คำว่า “สันโดษ” ที่พวกเรามักมีความเชื่อผิดๆ ต่อความหมายของคำว่า สันโดษ ไปในทางที่ขัดขวางกับการพัฒนาอยู่เสมอ เพราะเรามักเข้าใจว่า “สันโดษ” หมายถึง พอใจในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ หรือไม่ก็หมายถึง ความมักน้อย เป็นต้น ความเข้าใจผิดในความหมายของคำว่า “สันโดษ” ในทำนองนี้ถึงขนาดรัฐบาลยุคหนึ่งต้องออกมาขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายอย่าสอนประชาชนให้ “สันโดษ” เพราะขัดกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เจริญ แต่โชคดีของประเทศไทยที่มีท่านพุทธทาส และท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านและให้ความหมายของคำ “สันโดษ” ว่า หมายถึง “การแสวงหาความสุขด้วยการพึ่งวัตถุให้น้อยที่สุด” ตรงนี้แหละเป็นหัวใจแท้จริงของคำว่า “สันโดษ” ที่สอดคล้องกับความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้เลย

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยให้พระภิกษุดำรงชีพอยู่ด้วยปัจจัยสี่ดังเรารับรู้ว่านี่แหละเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดเพื่อให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ คือมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค สี่อย่างนี้เท่านั้นสำคัญสุดเครื่องนุ่งห่มมีแค่ผ้าสามผืน (ไตรจีวร) คือ จีวร สบง และสังฆาฏิ อาหารท่านบัญญัติให้ฉันมื้อเดียวต่อวัน ที่อยู่อาศัยให้ใช้เรือนร้างหรือตามร่มไม้ด้วยประสงค์ให้ไม่ “ติดที่” ยกเว้นในพรรษา นอกนั้นพระภิกษุพึง “จาริก”ไปเพื่อนำธรรมโปรดสัตว์เป็นธรรมทาน ส่วนยารักษาโรคนั้นท่านยกตัวอย่างตำรับง่ายสุดคือ “ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” เช่น มะขามป้อมดองน้ำปัสสาวะ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นสุดที่มนุษย์ในสภาวะสมณเพศจะพึงดำรงอยู่ได้

แต่ลำพังความหมายของ “สันโดษ” ที่กล่าวมานี้ก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนา ท่าน ว.วชิรเมธี ก็ได้กรุณาไขความกระจ่างของ “สันโดษ” ในเชิงของการพัฒนา ว่าคือ ความพอใจในวัตถุที่ทำมาหาได้ด้วยศักยภาพตนเอง สันโดษทำให้เกิดการพัฒนา เพราะเมื่อเราพอใจในวัตถุที่เรามีอยู่ เราก็จะพอเพียงในสิ่งที่เรามีอยู่ เราก็จะสามารถนำความรู้ความสามารถของเราไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างอื่นได้อย่างเต็มความสามารถ ตัวอย่างเช่น ท่านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตฺโต ที่ท่านมีความสันโดษในวัตถุ ท่านก็ไม่เพียรสะสมวัตถุต่างๆ เกินความพอดี ความสามารถที่มีอยู่ของท่านจึงใช้เพื่อการพัฒนาเพื่อนมนุษย์ ประเทศไทยจึงโชคดีที่ได้มีโอกาสในอ่านบทความหรือหนังสือต่างๆ ที่ท่านเขียนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนามากมาย

ท่านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตฺโต เคยยกตัวอย่างพ่อแม่มักถามลูกว่า “อยากได้อะไร” ท่านว่านี่เป็นคำถามที่ผิดเพราะเด็กๆ มีความ “อยากได้” ไม่สิ้นสุด ท่านเจ้าคุณบอกว่าเราต้องตั้งคำถามกับเด็กๆ ใหม่ว่า “อยากทำอะไร” คำถามเช่นนี้แหละเป็นคำถามที่พัฒนาสังคมไทย เพราะเป็นคำถามที่ไม่ส่งเสริมให้คนเราขวนขวายอยากได้จนเกินความพอดี แต่ส่งเสริมให้เราคิด พิจารณา สร้างสรรค์ พัฒนา และหากเราพิจารณาความ “อยากทำ”ควบคู่กับความ “ควรทำ” ด้วย เช่นเรา “อยากทำ” ธุรกิจ เราก็พิจารณาควบคู่ไปกับความเหมาะสมรวมทั้งศักยภาพของเราด้วยว่า “ควรทำ” อย่างไรแค่ไหนจึงจะพอดีกับศักยภาพของเรา ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามากยิ่งขึ้น

ในการพิจารณา “สันโดษ” เพื่อการพัฒนา เราอาจพิจารณาได้หลายมิติคือ

สันโดษทางกายภาพ เช่น ความพอเพียงในทรัพย์สินที่มีอยู่ ที่เหลือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทำลายล้างผลาญทรัพยากร เป็นต้น

สันโดษทางจิตใจ คือ การมีความสุขด้วยการพึ่งวัตถุให้น้อยที่สุดไม่ใช่สุขไปตามอำนาจกิเลส หากเป็นความสุขชนิดไปพ้นจากอำนาจของกิเลส ความสุขชนิดนี้จะมีได้ต้องผ่านความพอเพียงขั้นพื้นฐานทางกาย ความพึงพอใจในการมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และสุดท้ายคือ การบรรลุถึงความปีติสุขอันอยู่เหนืออำนาจวัตถุและอำนาจกิเลสนั่นเอง