posttoday

JCR เพิ่มอันดับเคดิตเรทติ้งประเทศไทย จาก A- เป็น A

11 พฤศจิกายน 2565

Japan Credit Rating Agency, Ltd.(JCR) ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็น A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ได้แก่ตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-term Sovereign Credit Rating) จาก ระดับ A- เป็น A และตราสารหนี้สกุลเงินบาทจากระดับ A เป็น A+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) การคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างประเทศทยอยเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดย JCR คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตประมาณร้อยละ 3 นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ผ่านมาตรการทางภาษี เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยยกระดับภาคการผลิต เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และมีศักยภาพการเติบโตในระยะปานกลางถึงยาว ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างน้อยประมาณร้อยละ 4 หรือมากกว่า ในระยะต่อไป

2) ภาคการคลังมีความเข้มแข็งจากการปฏิรูปภาษีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้จ่ายภาคการคลังได้ลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย และรัฐบาลมีเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี JCR จึงคาดว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 70 ได้

3) ภาคธนาคารและการเงินต่างประเทศ พบว่า ภาคธนาคารมีเสถียรภาพ และภาคต่างประเทศแข็งแกร่ง แม้ว่าปี 2564 ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากภาคการส่งออกและรายได้จากนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ การมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

4) ประเด็นที่ JCR ให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าว

JCR เพิ่มอันดับเคดิตเรทติ้งประเทศไทย จาก A- เป็น A