บีทีเอสใต้ร่มเงาเจ้าสัว 'คีรี กาญจนพาสน์' เส้นเลือดใหญ่คมนาคมของไทย
“คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าสัว “บีทีเอส” ผู้ให้บริการขนส่งคนไทยกว่า 14 ล้านเที่ยวต่อเดือน เขาไม่ได้เป็นเพียงมหาเศรษฐีไทย แต่ยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประเทศด้วย เมื่อ กทม. ปล่อยเวลาค้างหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้เนิ่นนาน จากหมื่นล้านจนทะลุไปถึง 40,000 ล้านบาท
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ยังไม่หายไปไหน เมื่อ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าสัวแห่งบีทีเอส ออกมาเคลื่อนไหวถึงรัฐบาลอีกครั้ง
กลางเวทีการแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการลงทุนระบบขนส่งทางราง กับ “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
แถมยังปล่อยคลิปทวงหนี้ความยาว 2 นาที เมื่อวันที่ 21 พ.ย. กรณียอดหนี้ค้างชำระของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทะลุไปถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่อย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ต้องร่วมจ่ายหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการฯ ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 11,755 ล้านบาท (นับเฉพาะยอดหนี้ที่ค้างจ่ายจนถึงวันที่ 15 ก.ค. 2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน)
จนตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการชำระหนี้แต่อย่างใด
โดย "คีรี" ย้ำว่า รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรัฐมนตรี ไม่ควรนิ่งเฉย อย่าปล่อยให้เอกชนต้องสู้เพียงลำพัง หรือ รอจนหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572
เพราะนั่นหมายถึงเงินภาษีของประชาชนที่ต้องนำมาจ่ายเพิ่ม
สำหรับ “คีรี” ในวัย 72 ปี หรือ เจ้าสัวบีทีเอส ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีเมืองไทย จากการเป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส รายแรก จนกลายเป็นแหล่งที่มาของความร่ำรวยของเขา
จากการจัดอันดับโดย Forbes ที่ระบุทรัพย์สินสุทธิของ “คีรี” ที่ 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565
ทิศทางความมั่งคั่งของ 'คีรี กาญจนพาสน์'
แน่นอนว่า คนกรุง 1 ใน 3 ต้องคุ้นชินกับการใช้บริการบีทีเอส สายสีเขียวอ่อน (เคหะ-คูคต) ,สายสีเขียวเข้ม (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) และสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) รวมถึง รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT (ช่องนนทรี-ตลาดพลู) ของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ BTS ระบุว่า เดือน ต.ค.2565 บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ฟื้นตัวขึ้นมาถึง 500,000 เที่ยวต่อวัน หรืออยู่ที่เพียง 70% ของช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 756,000 เที่ยวต่อวัน
ขณะที่สถิติทั้งเดือนอยู่ที่ 14.6 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 140.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
โดยคาดว่าช่วงสิ้นปี 2565 ผู้โดยสารจะฟื้นตัวเป็น 80-90% จากช่วงก่อนโควิด ก่อนกลับมาใกล้เคียงระดับเดิมในช่วงเม.ย. 2566 คาดว่าภายในปี 2568 จะมีการเดินทางในระบบบริการของ BTS ถึง 3 ล้านเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 0.8 ล้านเที่ยวในปี 2563
ภายใต้ร่ม บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ระบบขนส่งมวลชน,สื่อโฆษณา,อสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจบริการ ซึ่งล่าสุด ( 21 พ.ย. 2565) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ราว 1.07 แสนล้านบาท
สำหรับรายได้ 6 เดือน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 อยู่ที่ราว 11,193 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการเฉพาะไตรมาส 2/2565 BTS มีรายได้ 4,533 ล้านบาท โดย 69% หรือ รายได้ 3,107 ล้านบาท มาจากธุรกิจให้บริการระบบขนส่งมวลชน
กลุ่มระบบขนส่งมวลชน บีทีเอส ให้บริการรถไฟฟ้า สายสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม รวม 68.25 กิโลเมตร จำนวน 60 สถานี และ สายสีทอง 1.8 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี
ขณะที่ปีหน้าจะพร้อมให้บริการสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี และ สายสีเหลือง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี
นอกจากนี้ บีทีเอส ยังให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี
ขณะที่นอกเมือง “คีรี” ยังครองโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และ เมืองการบิน ผ่าน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) บริษัทของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งร่วมค้ากับบมจ. การบินกรุงเทพ และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง คือ บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่- กาญจนบุรี ในนาม บริษัท บีจีเอสอาร์ 6 จำกัด (BGSR6) และ บริษัท บีจีเอสอาร์ 81 จำกัด (BGSR81) บริษัทของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ซึ่งร่วมค้ากับ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบมจ. ราช กรุ๊ป
กลุ่มสื่อโฆษณา มอบหมายให้บุตรชายคือ “กวิน กาญจนพาสน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. วีจีไอ เพื่อให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และตามอาคารต่าง ๆ
นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าลงทุนในบมจ. มาสเตอร์แอด (MACO) และบมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) ในสื่อโฆษณาบริเวณตอม่อโครงการรถไฟฟ้า อาคารพาณิชย์ และท่าอากาศยาน
ในกลุ่มนี้ยังมีธุรกิจบริการชำระเงิน “แรบบิท” ธุรกิจโลจิสติกส์ที่เข้าไปถือหุ้นใน บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพลส (ประเทศไทย) และบมจ.เจ มาร์ท
อีก 2 กลุ่ม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่านบมจ. ยู ซิตี้ ซึ่งลงทุนร่วมกับแสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ และเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
และยังมีการลงทุนในกลุ่มบริการอื่นๆ เช่น กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ ภายใต้การบริหารงานของ “กวิน” เช่นกัน
“คีรี” เริ่มธุรกิจจาก บมจ.ธนายง เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการ “ธนาซิตี้” ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม และที่ดินเปล่าจัดสรร แต่เนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนเป็นผู้ชนะการประมูลตั้งแต่ปี 2533 และเปิดให้บริการในปี 2542 แต่ผลตอบรับไม่ดีมาก เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เขาประสบปัญหาขาดทุน
จนกระทั่งในปี 2551 มีปริมาณผู้โดยสารใช้งานมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และเปลี่ยนชื่อเป็น บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในปัจจุบันโดยมีสื่อโฆษณาจากวีจีไอรับสัมปทานบริหารสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า
ณ วันนี้เขาทำธุรกิจบีทีเอสมาแล้วกว่า 30 ปี และมีการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่นๆมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ 3 Mที่ประกอบไปด้วย MOVE, MIX และ MATCH”
โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่าย MOVE การให้บริการคมนาคม และกลุ่ม MIX ธุรกิจสื่อโฆษณา การชำระเงิน และโลจิสติกส์ ที่บริษัทฯ ริเริ่มมาตั้งแต่แรกและถือครองกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว
บีทีเอส กรุ๊ป ยังเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นส์ ภายใต้แนวคิดการแบ่งปันการเข้าถึงแพลตฟอร์มของหน่วยธุรกิจ MATCH ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการแบ่งปันการเข้าถึงในเครือข่าย MOVE (การเข้าถึงผู้โดยสาร)
และเครือข่าย MIX (การเข้าถึงกลุ่มผู้เป้าหมายที่กว้างและตรงจุด) แก่พันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน สนามกอล์ฟ ภาคบริการ โรงแรม และร้านอาหาร ที่เกาะอยู่ตามเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส
จากนี้ “บีทีเอส” จะเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าสายไหนอีกบ้าง หรือจะสามารถต่อยอดจากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้อีกมหาศาลแค่ไหน ต้องรอดูกันต่อไป